ซันเวนดิ้งฯ เคาะราคาขาย IPO 2.54 บ./หุ้น จองซื้อ 22-23-27 ก.ย.คาดเข้าเทรด 5 ต.ค.

นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน บมจ.ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี (SVT) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ภายใต้แบรนด์ SUN Vending เปิดเผยว่า SVT กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 2.54 บาท/หุ้น จำนวนหุ้นที่เสนอขาย 200 ล้านหุ้น คาดเปิดให้จองซื้อหุ้นในวันที่ 22, 23, และ 27 ก.ย.64 และคาดจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 5 ต.ค.64

“การกำหนราคาหุ้น IPO ในครั้งนี้ พิจารณาจากการสำรวจความต้องการที่จะซื้อหุ้น (Book Building) จากนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ โดยกองทุนทุกกองทุนได้แจ้งความประสงค์ที่จะลงทุนในหุ้น SVT ที่ราคาสูงสุด 2.54 บาท/หุ้น ขณะเดียวกันกองทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีความประสงค์จองซื้อหุ้น IPO มามากกว่าจำนวนหุ้น IPO ที่เราเสนอขาย ถือว่าเป็น การตอบรับที่ดีที่กองทุนได้เล็งเห็นศักยภาพของหุ้น SVT อย่างไรก็ตามราคาหุ้น IPO ที่ 2.54 บาท/หุ้น คิดเป็น P/E ประมาณ 28 เท่า ของกำไรสุทธิต่อหุ้นย้อนหลัง 4 ไตรมาสล่าสุด ประมาณ 65 ล้านบาทหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ คือ 700 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ซึ่งจะได้กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 9 สตางค์ โดยเทียบกับ P/E ของกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจพาณิชย์ ที่มีค่า P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือน อยู่ที่ 39 เท่า ซึ่ง P/E ของ SVT ที่ 28 เท่า ก็ถือว่ามีส่วนลด”

นายวิชา กล่าว

พร้อมกันนี้บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งให้ บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น รวมถึงแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย 4 ราย ประกอบด้วย 1. บล. โนมูระ พัฒนสิน 2. บล. อาร์เอชบี (ประเทศไทย) 3. บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) และ 4. บล. กรุงศรี เพื่อเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 200 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็น 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าหุ้น SVT จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจาก SVT เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกในรูปแบบใหม่ที่จำหน่ายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติ มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมายาวนานกว่า 20 ปี โดยมีเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (“Vending Machine-VM”) ติดตั้งให้บริการมากกว่า 13,884 เครื่อง มีความหลากหลายของประเภท Vending machine ที่ให้บริการ ซึ่งทำให้ SVT สามารถนำเสนอสินค้าเพื่อขายผ่านตู้ฯ ได้มากถึงประมาณ 700 SKUs

นายวิชา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง SVT มีการเติบโตของรายได้มาอย่างต่อเนื่อง โดยการเติบโตเฉลี่ยในภาวะปกติ ทำได้ไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งในอนาคตเมื่อบริษัทฯ มีการลงทุนโดยนำเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ ไปลงทุนขยายการติดตั้งให้บริการเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้ครบ 20,000 เครื่อง โดยจะเป็นเครื่องอัตโนมัติประเภทที่รองรับเงินสด และการชำระผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 15,000 เครื่อง (ตู้ smart) ภายในปี 66 ก็คาดว่าการเติบโตของรายได้ในอนาคตจะไม่น้อยกว่าการเติบโตในอดีต

สำหรับจุดเด่นของ SVT คือ เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 44% ในแง่ของจำนวนเครื่องที่ติดตั้ง ณ สิ้นปี 63 ซึ่งถือเป็นผู้นำอันดับ1 ของประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทฯ มีความได้เปรียบผู้ประกอบการอื่นๆ จากการมีโรงงาน Refurbishment ที่มีศักยภาพ และทีมวิจัยที่พัฒนารูปแบบเครื่อง VM ที่หลากหลาย สามารถรองรับการให้บริการสินค้าและการชำระเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึง บริษัทฯ ยังมีแผนการปรับปรุง VM ให้เป็นแบบ Smart มากขึ้น โดยคาดว่าจะช่วยตอบสนอง Lifestyle ผู้บริโภคได้ดี และนำสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

นางอาภัสรา ภาณุพัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ SVT กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะช่วยเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งในการขยายธุรกิจตามแผนงานที่วางไว้ ปัจจุบัน SVT มีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัด และสาขา 11 แห่ง มีวัตถุประสงค์ของการระดมทุน เพื่อใช้ในการขยายการติดตั้งให้บริการเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้ครบ 20,000 เครื่อง โดยจะเป็นเครื่องอัตโนมัติประเภทที่รองรับเงินสด และการชำระผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 15,000 เครื่อง (ตู้ smart) ภายในปี 66

นอกจากนี้ยังมีแผนการขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 3 สาขาในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตามลำดับ รวมทั้งแผนการขยายไปยังธุรกิจ Franchise เพื่อขยายการให้บริการขายสินค้าผ่านตู้ครอบคลุมทั่วประเทศ

บริษัทฯ มีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ โดยแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1. เครื่องจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่ม (Can & Bottle) 2. เครื่องจำหน่ายสินค้าแบบบานกระจก (Glass Front) 3. เครื่องจำหน่ายสินค้าประเภทถ้วยแบบร้อนเย็น (Cup Hot and Cold) และ 4. เครื่องสำหรับขายอาหารกึ่งสำเร็จรูป (Noodle) อีกทั้งยังมีเครื่องประเภทอื่นๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจการจำหน่ายสินค้าผ่านเครื่องอัตโนมัติ ได้แก่ เครื่องแลกเหรียญ ซึ่ง SVT ผลิตเครื่องแลกเหรียญ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าในกรณีไม่มีเหรียญ และเครื่องเติมเงิน ซึ่งเป็นเครื่องที่ผู้บริโภคสามารถเติมเงินเข้าบัตรแรบบิทการ์ด รวมทั้ง SVT ได้จัดทำระบบบัตรสวัสดิการหรือบัตรพนักงาน (One Card) เพื่อใช้ซื้อสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top