กสิกรฯ แนะจับตาสภาพคล่อง-ผลตอบแทน หลังความต้องการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า นับจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นติดตามสำคัญคงหนีไม่พ้นทิศทางผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยที่กลับมาไต่ระดับเพิ่มขึ้นชัดเจน แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำทั้งในปีนี้และคงจะรวมถึงปีหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยดังกล่าว มาจากหลายสาเหตุ ทั้งการปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รับข่าวสัญญาณการเตรียมถอยออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2565 และล่าสุด การปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี

“ต้องยอมรับว่า ทางการไทยจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ และต่อเนื่องในปี 2565 เพื่อช่วยประคองเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี แนวโน้มการระดมทุนของภาครัฐในระดับสูงต่อเนื่อง อาจมีผลต่อเนื่องไปยังตลาดพันธบัตร และประเด็นสภาพคล่องด้วยเช่นกัน” 

บทวิเคราะห์ระบุ

ทั้งนี้ ภาครัฐมีแนวโน้มออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี 2564 เพื่อระดมทุนมาเพื่อใช้สำหรับมาตรการและโครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบและประคองเศรษฐกิจในภาพรวม โดยมีความเป็นไปได้ว่า จะมีการออกพันธบัตรรัฐบาลเป็นวงเงินราว 2.73 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าวงเงินการออกพันธบัตร 2.31 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 3/2564 (ไตรมาสสุดท้ายของปีงบฯ 2564) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาลในช่วงหลายๆ ไตรมาสที่ผ่านมา

ภาพการเตรียมออกพันธบัตรรัฐบาล การเตรียมแผนการบริหารหนี้สาธารณะสำหรับปีงบประมาณ 2565 และการขยายเพดานหนี้ ซึ่งมาในช่วงเวลาเดียวกัน กลายเป็นปัจจัยที่หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทย หรือบอนด์ยีลด์ทยอยปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ขยับขึ้นมาที่ 1.80% สูงสุดในรอบประมาณ 1 เดือนครึ่ง ส่วนบอนด์ยีลด์อายุ 5 ปี แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 0.95% ในช่วงวันที่ 20 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

“จากการที่ปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลของไทยมีวงเงินที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงจังหวะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เตรียมส่งสัญญาณลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ คาดว่าทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของไทยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้น จากระดับประมาณ 1.80% ในปัจจุบันไปที่ระดับ 1.90% ในช่วงสิ้นปี 2564 (กรอบคาดการณ์ที่ 1.70-2.10%) ส่วนในปี 2565 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อ ตามความต้องการระดมทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการจับสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ และท่าทีเฟดที่จะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายหลังจาก QE Tapering สิ้นสุดลง” 

บทวิเคราะห์ระบุ

สำหรับตัวแปรในประเทศ คงเน้นติดตาม

  1. รูปแบบการกู้เงินของภาครัฐผ่านเครื่องมือต่างๆ อาทิ การออกพันธบัตร ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเงินกู้ยืม จากแผนบริหารหนี้สาธารณะ
  2. การจัดสรรจังหวะเวลาการออกตราสารหนี้ ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะทยอยกระจายวงเงินสำหรับการออกพันธบัตรและตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการระดมทุนของบริษัทเอกชน (Crowding out Effect) รวมถึงผลกระทบต่อผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยในภาพรวม

ขณะที่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีเครื่องมือดูแลบริหารจัดการสภาพคล่อง รวมถึงธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องสะสมในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งน่าจะช่วยให้อัตราผลตอบแทนไม่ขยับขึ้นเร็วและแรงเกินไปจนกระทบต้นทุนของภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

“ดังนั้น สำหรับภาคธุรกิจ นอกจากจะเตรียมแผนสำหรับธุรกิจในปีหน้าแล้ว คงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องแผนการระดมสภาพคล่อง ช่องทางการกู้เงิน และช่วงเวลาของการออกหุ้นกู้ เพื่อให้สามารถระดมสภาพคล่องได้สำเร็จในวงเงินที่ต้องการ ในจังหวะที่ต้นทุนการออกหุ้นกู้กำลังจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล” 

บทวิเคราะห์ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top