นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ได้รับทราบตามมติของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม แบบสูตรไขว้ ซึ่งอาจใช้หลักการเดียวกับวัคซีนซิโนแวค
ทั้งนี้ เนื่องจากยังต้องรอข้อมูลจากผลการวิจัยเพิ่มเติม ตามสูตรดังนี้
- ซิโนฟาร์ม – ไฟเซอร์ ระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์
- ซิโนฟาร์ม – แอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์
- ซิโนฟาร์ม – ซิโนฟาร์ม กระตุ้นด้วย แอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป หลังเข็มที่ 2
- ซิโนฟาร์ม – ซิโนฟาร์ม กระตุ้นด้วย ไฟเซอร์ ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป หลังเข็มที่ 2
อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม แบบสูตรไขว้ จึงยังไม่ได้กำหนดเป็นสูตรหลักของประเทศ การใช้สูตรนี้จึงเป็นไปตามเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนอนุญาตการใช้วัคซีน โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามความสมัครใจของผู้รับวัคซีน และดุลยพินิจของผู้ให้บริการ
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงแนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับประเทศไทย ในระหว่างเดือนต.ค.-ธ.ค. 64 ดังนี้
- ต.ค.64 มีแผนการจัดหาวัคซีนหลัก 24 ล้านโดส และวัคซีนทางเลือก (ซิโนฟาร์ม) อีก 6 ล้านโดส
- พ.ย.64 มีแผนการจัดหาวัคซีนหลัก 23 ล้านโดส และวัคซีนทางเลือก (ซิโนฟาร์ม) อีก 12.5 ล้านโดส
- ธ.ค.64 มีแผนการจัดหาวัคซีนหลัก 24 ล้านโดส และวัคซีนทางเลือก (ซิโนฟาร์ม, โมเดอร์นา) อีก 14.5 ล้านโดส
ทั้งนี้ หากรวมกับการจัดหาวัคซีนต่อเนื่องตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา จะทำให้มีจำนวนวัคซีนที่ใช้ในปี 64 รวมทั้งหมด 178.2 ล้านโดส แบ่งเป็น วัคซีนหลัก 126.2 ล้านโดส และวัคซีนทางเลือก 52 ล้านโดส
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงความก้าวหน้าในการเจรจาจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่อจากสหภาพยุโรป โดยกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า มีประเทศในสหภาพยุโรปที่มีวัคซีนโควิด และพร้อมจะขายต่อ ดังนี้
1.สเปน มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1.65 แสนโดส ราคาโดสละ 2.9 ยูโร และวัคซีนไฟเซอร์ 2.78 ล้านโดส ราคาโดสละ 15.5 ยูโร
2.ฮังการี มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 4 แสนโดส ราคาโดสละ 1.78 ยูโร
สำหรับราคาวัคซีนดังกล่าวข้างต้น ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าบรรจุภัณฑ์และที่ควบคุมอุณหภูมิ, ค่าขนส่งทั้งระหว่างประเทศ และภายในประเทศไทย, ค่าภาษีศุลกากรขาออก-ขาเข้า, ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าประกันความเสียหาย
“ในที่ประชุม ศบค.ก็เห็นชอบตามแผนนี้ในการให้จัดหาวัคซีน และให้นำเข้า ครม.เพื่อเสนอของบประมาณต่อไป” โฆษก ศบค.ระบุ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงเป้าหมายและแผนการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. 64 ว่า ในกรณีที่มีการจัดหาวัคซีนหลักได้ครบตามแผน 126.2 ล้านโดส ประชากรไทยจะได้รับวัคซีนทั้งหมด 62 ล้านคน คิดเป็นครอบคลุม 90% ของจำนวนประชากร 70 ล้านคน โดยเป้าหมายการฉีดวัคซีนภายในปี 64 เข็มแรก ต้องครอบคลุมอย่างน้อย 70% ในเดือนพ.ย. และ 80% ในเดือนธ.ค. ส่วนเข็มสอง ต้องครอบคลุมอย่างน้อย 70% ภายในเดือนธ.ค.
รวมทั้ง ให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็ม และผู้เคยติดเชื้อโควิดมาแล้ว ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 1 เข็ม โดยมีแผนการจัดสรรให้มีผู้ได้รับการกระตุ้นเดือนละ 1-2 ล้านโดส ตั้งแต่ต.ค.-ธ.ค.64
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 64)
Tags: lifestyle, ฉีดวัคซีนโควิด, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, วัคซีนต้านโควิด-19, ศบค.