โพล ม.หอการค้าฯชี้กินเจปีนี้เงินสะพัดราว 4 หมื่นลบ. หดตัวต่ำสุดรอบ 14 ปี

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจปี 64 โดยคาดว่าเทศกาลกินเจในปีนี้จะมีเงินสะพัดราว 40,147 ล้านบาท หดตัวจากปีก่อน -14.5% ซึ่งมีเงินสะพัดราว 46,967 ล้านบาท โดยปีนี้ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 14 ปี ตั้งแต่ปี 51

ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,208 ตัวอย่างว่า ในปี 64 นี้จะกินเจในช่วงเทศกาลกินเจหรือไม่พบว่า ประชาชน 60.9% ระบุว่า จะไม่กินเจ สาเหตุคือ เศรษฐกิจไม่ดี, ไม่ตั้งใจจะกิน และที่บ้านไม่มีใครกินเจ ขณะที่ประชาชนอีก 39.1% ระบุว่าจะกินเจ เพราะกินเฉพาะเทศกาล, ตั้งใจทำบุญ และกินตามคนที่บ้าน หรือคนรอบข้าง

ส่วนพฤติกรรมการกินเจในครั้งนี้ ประชาชน 62.9% ระบุว่าจะกินตลอดช่วงเทศกาลคือตั้งแต่ 4 ต.ค.-13 ต.ค. 64 ขณะที่ประชาชนอีก 37.1% ระบุว่าจะกินเจเฉพาะบางมื้อ โดยช่องทางในการเลือกซื้ออาหารเจ ส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นการซื้อด้วยตนเอง 87.8% โดยจะซื้อตามร้านค้าทั่วไป รองลงมาคือซื้อตามตลาดสด เนื่องจากมีโครงการคนละครึ่งจากภาครัฐ สำหรับราคาวัตถุดิบ ประชาชน 47.6% มองว่าราคาจะแพงกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่อีก 45.5% มองว่าราคาจะเท่ากับปีที่แล้ว นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ 89.9% ระบุว่าไม่ได้เดินทางไปทำบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ขณะที่อีก 10.1% ระบุว่าจะเดินทางไปทำบุญ

จากการสอบถามเรื่องความคึกคักของเทศกาลกินเจ คาดว่า ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน 55.8% ในขณะที่ 28.6% มองว่าจะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี และค่าครองชีพสูง รวมทั้งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับแหล่งที่มาของการใช้จ่ายในช่วงกินเจที่ปีนี้ประชาชน 7.7% ระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีเพียง 0.4% เท่านั้น

ส่วนการสำรวจความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน และอนาคต จากการสอบถามถึงสภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต พบว่า ประชาชน 53.4% มองว่าประเทศไทยกำลังถึงจุดต่ำสุด และ 23.5% มองว่าประเทศไทยกำลังถดถอย ทั้งนี้เมื่อถามถึงการฟื้นตัว ประชาชน 48.7% มองว่าประเทศไทยจะฟื้นในครึ่งปีหลัง ปี 65

ในส่วนของความเห็นต่อสถานการณ์โควิด-19 ประชาชน 42.3% มองว่าต่อจากนี้สถานการณ์จะเหมือนเดิม และน่าจะดีขึ้น 33.1% โดยจากการสอบถามพบว่า ประชาชนได้รับผลกระทบทางลบจากโควิด-19 ถึง 98.5% ซึ่งส่วนมากมาจากรายได้ที่ลดลง และหนี้สินที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงความเห็นต่อการคลายล็อกดาวน์ ประชาชน 57.5% มองว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นหากมีการคลายล็อกดาวน์

ส่วนความเห็นต่อการเปิดประเทศ พบว่า ประชาชน 50.3% เห็นด้วยกับการเปิดประเทศ เพราะจะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ และเพิ่มโอกาสในการหางาน ในขณะที่ 49.7% ไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังมีความกลัวเรื่องการระบาดระลอกใหม่ เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และยังรับวัคซีนไม่ครบ อย่างไรก็ดีเมื่อถามถึงความเห็นต่อการเปิดประเทศ ประชาชน 53.5% มองว่าการเปิดประเทศนั้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ ได้แก่ ต้องการเงินเยียวยาต่ออีก และกระจายผู้ที่ได้รับมากขึ้น, ต้องการให้การเมืองมีเสถียรภาพ, ต้องการให้หาแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ, ต้องการให้กระตุ้นการลงทุนของนักลงทุน, ต้องการให้ช่วยหางานสำหรับผู้ที่ตกงาน และต้องการให้แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top