รมว.คมนาคม หารือทูตฝรั่งเศสดึงนักธุรกิจร่วมลงทุน MRO อู่ตะเภา-แลนด์บริดจ์-สายสีส้ม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังหารือกับ นายตีแยรี มาตู (H.E.Mr.Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่ว่า ได้มีการหารือถึงความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและฝรั่งเศสในหลายประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

1.การเชิญชวนนักธุรกิจฝรั่งเศสมาร่วมโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ได้แก่ โครงการก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยานของไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในภูมิภาคอาเซียน มุ่งสู่การเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับระบบราง (MR-MAP) และโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Southern Land Bridge) ที่เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทยผ่านจังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร เพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น Transshipment ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค

โดยทางฝรั่งเศสมีท่าทีสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน

2.การร่วมลงนามในร่างปฏิญญาแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่ง ระหว่าง รมว.คมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและ รมช.การเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยา กำกับดูแลการคมนาคมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างกันในทุกมิติ โดยกำหนดการจัดพิธีการลงนามปฏิญญาดังกล่าวคาดว่าจะจัดขึ้นภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลายลง

3.ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อต่อยอดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีระหว่างกันในด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน รวมถึงด้านเทคโนโลยี (Artificial Intelligence: AI) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน โดยกระทรวงฯ ได้นำเสนอผลงานการคิดค้นและขับเคลื่อนการนำยางพารามาผลิตเป็นแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ โดยการปรับรูปแบบนำยางพารามาใช้กับอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนให้กับประชาชน ขณะที่ทางฝรั่งเศสได้นำเสนอโครงการ Helicopter Emergency Medical Services (HEMS) ซึ่งเป็นบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ซึ่งจะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ โดยมีแผนจะนำร่องในพื้นที่ EEC

4.ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองและการรักษามรดกชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต (SUTRHE) ซึ่งกระทรวงฯ มีความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) ในโครงการดังกล่าวในปี 2563-2564 ครอบคลุมถึงโครงการรถไฟฟ้ารางเบากระเช้าไฟฟ้า และรถโดยสารสาธารณะเพื่อพัฒนาเป็นเครือข่ายขนส่งสาธารณะของภูเก็ตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมรดก นอกจากนี้ AFD ยังยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย รวมถึงการสนับสนุนทั้งในด้านการเงิน การวิจัย และการศึกษาในโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top