GPSC รอ PDP ฉบับใหม่ชัดเจน พ.ย.นี้ก่อนเคาะแนวทางเดินหน้าต่อพลังงานทดแทน

นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเดินหน้าขยายโครงการด้านพลังงานทดแทนต่อเนื่อง โดยที่ยังรอความชัดเจนจากแผนพลังงานแห่งชาติฉบับใหม่ที่คาดว่าจะออกมาในช่วงเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการเดินหน้าให้มีความสอดคล้องกัน

ปัจจุบันบริษัทในฐานะ Flagship ผู้นำพลังงานทดแทนของกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ได้ดำเนินการในส่วนของการขยายธุรกิจด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป โครงการ Private PPA ควบคู่ไปพร้อมกัน พร้อมกับมีการเสนอแผนให้แก่ลูกค้าแบบเป็นโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์การประหยัดพลังงานครบวงจร ประกอบกับการมองโอกาสในการลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนให้ครบวงจร

สำหรับแผนงานในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับกับเทรนด์การใช้รถ EV ที่จะมีแนวโน้มมากขึ้น บริษัทยังเดินหน้าขยายการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ตามเป้าหมาย 5-10 กิกะวัตต์ในระยะเวลา 10 ปี เงินลงทุนรวมราว 3 หมื่นล้านบาท เน้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากการลงทุน และสามารถรองรับกับการผลิตรถ EV ในพื้นที่ EEC ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายทิติพงษ์ กล่าวว่า การลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ GPSC ถือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้ต้องศึกษาอย่างรอบคอบ แต่บริษัทพร้อมเดินหน้าสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการผลักดันประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ให้เกิดขึ้นจริงอย่างจริงจัง และเป็นไปตามนโยบายของประเทศอื่นๆ ที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น

ธุรกิจแบตเตอร์รี่ของบริษัทเริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) ที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น เหมาะสมกับการใช้งานที่มีซับซ้อนของระบบมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิลได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน เป็นประเภทแบตเตอร์รี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยที่บริษัทได้เปิดโอกาสให้พันธมิตรที่จะมาร่วมพัฒนาวิจัยเรื่องเทคโนโลยีหรือการต่อยอดเทคโนโลยีของ 24M เพราะเรื่องเทคโนโลยีมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้การที่ได้พันธมิตรเข้ามาร่วมจะทำให้บริษัทได้รับองค์ความรู้และโซลูชั่นใหม่ๆ เข้ามาเสริม ทำให้สามารถพัฒนาแบตเตอร์รี่ที่มีต้นทุนลดลงได้ในขณะที่แบตเตอร์ก็มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน

“การพัฒนาในธุรกิจแบตเตอร์รี่ถือว่ามีความท้าทาย เพราะเราต้องมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดแต่ได้ต้นทุนที่ต่ำ ทำให้การวิจัยและพัฒนาเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ใครที่มี Know-how และโซลูชั่นที่เข้ามาซัพพอร์ตเราพร้อมเปิดรับเข้ามาร่วม เพื่อมาร่วมกันผลักดันประสิมทธิภาพการผลิตให้ดีที่สุด และได้ต้นทุนที่ต่ำ”

นายทิติพงษ์ กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ บมจ.ปตท. (PTT) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn) เพื่อดำเนินการในส่วนของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และในส่วนของ บมจ.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) จะทำในส่วนของการติดตั้ง EV Charger เพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้นในอนาคต ซึ่งทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถ EV ของกลุ่มปตท.เดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top