นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 64 และจะครบกำหนด 90 วัน ในวันที่ 2 มกราคม 65 นี้
ส่วนในขณะนี้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่ได้แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช้ได้แต่ถ้าหากกำลังหาเสียงกันอยู่ แล้วมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาแล้วจะทำอย่างไร จะเลือกส.ส.กันแบบไหน ซึ่งหากเกิดอะไรขึ้นในตอนนี้ก็ต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบเก่า คือ บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่หากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็จะต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
“ปัญหาคือ ถ้ามีการยุบสภาฯเกิดขึ้นในตอนนี้ เราต้องบอกประชาชนทั้งประเทศว่า เลือกส.ส.เขต 350 บัญชีรายชื่อ 150 ในแบบเก่าคนจะฝังใจอย่างนั้น พอถึงเวลาจะเลือกตั้ง แต่มีประกาศแล้วธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาก็จะต้องเลือกส.ส.เขต 400 บัญชีรายชื่อ 100 มันจะยุ่งกันทั้งประเทศ”
นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ ยืนยันว่า ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ส่งสัญญาณให้ร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากมีการยุบแล้วก็ต้องเลือกใหม่ แต่ต้องคำถามว่า แล้วจะเลือกกันอย่างไร และเรื่องนี้ไม่มีใครตอบคำถามได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักวิชาการ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีทุกคนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยนั้น นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ แต่ให้ไปรับฟังและติดตามสถานการณ์โควิด การแก้ปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม และให้มารายงานยังรัฐบาลต่อไป ซึ่งไม่ใช่เป็นเตรียมการเลือกตั้งแต่อย่างใด
นายวิษณุ ระบุว่า จะเลือกตั้งได้อย่างไรในเมื่อกติกาหรือกฏหมายยังไม่ชัดเจน ส่วนระหว่างนี้หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจะทำให้ยุ่งใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สื่อก็คงคิดเองได้ ปัญหาใครก็รู้ ฉะนั้นก็ต้องตระหนักว่ามันมีปัญหารออยู่จะแก้ปัญหาอย่างไรพยายามก็พยายามกันอยู่
สำหรับความคืบหน้าร่างพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ….. ที่ยังไม่ประกาศใช้ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังตัดสินใจอยู่ว่าจะว่า จะออกเป็นพ.ร.ก.หรือพ.ร.บ. ถ้าเป็นพ.ร.บ.ก็เสนอต่อสภาฯ แต่ด้วยเหตุที่เป็นพ.ร.บ.ในเชิงปฏิรูปต้องเสนอต้องเสนอต่อที่ประชุมร่วมของทั้ง 2 สภาฯ แต่ถ้าคิดว่า จำเป็นเร่งด่วนต้องออกเป็นพ.ร.ก. ก็ออกเป็นพ.ร.ก. แต่ขณะนี้ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้
นายวิษณุ ยอมรับว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องด่วน แต่ถ้าหากออกเป็นพ.ร.ก.ในเวลานี้ ในรัฐธรรมนูญมาตรา 172 กำหนดไว้ว่า ถ้าออกเป็นพ.ร.ก.ระหว่างปิดสมัยประชุมสภาฯ ก็ต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งคิดว่าไม่อยากทำแบบนั้น ก็อาจจะรอไว้ใกล้สภาฯเปิดแล้วค่อยพิจารณา หรือเอาเข้าสภาฯเพื่อพิจารณาร่วมกัน ถ้าสภาฯไม่ล่มเสียก่อน ซึ่งยอมรับว่า ยังตัดสินใจตรงนี้ไม่ได้ และทางกระทรวงสาธารณสุขก็บอกว่าสามารถใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปก่อนได้ และหากสภาฯเปิดการตัดสินใจจะง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ยอมรับว่า หากสภาฯพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเกิดล่มรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ต.ค. 64)
Tags: ทูลเกล้า, ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ, วิษณุ เครืองาม