ทริสฯ เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ FPT เป็น A แนวโน้ม Stable

ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) (FPT) เป็นระดับ “A” จากเดิมที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

ในการนี้ อันดับเครดิตองค์กรได้รับการปรับเพิ่มขึ้นมา 3 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile : SACP) ซึ่งสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ (Strategically Important) ของ Frasers Property Ltd. (FPL) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

ทั้งนี้ การปรับเพิ่มสถานะเครดิตขึ้นมา 3 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเป็นไปตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ” ที่ปรับปรุงล่าสุดของทริสเรทติ้ง โดยทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าบริษัทยังคงสถานะเป็นบริษัทที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ซึ่งทำหน้าที่ลงทุนในด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยของ FPL ทังนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทมีสัดส่วนประมาณ 15% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายทั้งหมดของ FPL

SACP ที่ระดับ “bbb” ของบริษัทสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจร ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัย ผลงานที่เป็นที่ยอมรับในธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อซึ่งจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อผลการดำเนินงานและกำไรของผู้ประกอบการต่อไปอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– ธุรกิจมีขนาดใหญ่และมีสินค้าอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลาย ธุรกิจเดิมของบริษัทมีเพียงโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า การซื้อกิจการของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2562 ช่วยทำให้ธุรกิจของบริษัทมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยขยายไปยังธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ประเภทให้เช่า และธุรกิจโรงแรม แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ยาวนาน แต่ทริสเรทติ้งก็ยังคงมีมุมมองว่าพื้นฐานทางธุรกิจของบริษัทยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยผลงานที่เป็นที่ยอมรับในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลายจะยังคงช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทต่อไป

ในสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1.5-1.7 หมื่นล้านบาทในระหว่างปีการเงิน 2564-2566 โดยลดลงจาก 1.9-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปีการเงิน 2562-2563 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตในอัตราที่ลดลงซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัว การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าสำเร็จรูปให้เช่า และความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าที่ชะลอตัว โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 80% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมตลอดช่วงประมาณการ

ส่วนรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมให้เช่าจะมีสัดส่วน 10% ในขณะที่รายได้จากอาคารสำนักงานและโรงแรมจะมีสัดส่วน 5% ทั้งนี้ อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ควรอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 30% และอัตรากำไรสุทธิควรอยู่สูงเกินกว่า 10% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

– ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะยังคงได้รับแรงกดดันจากความต้องการที่ชะลอตัว ทริสเรทติ้งคาดว่าตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัยจะยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต่อไปในช่วงที่เหลือของปีการเงิน 2564 จนถึงต้นปีการเงิน 2565 โดยคาดว่าความต้องการที่อยู่อาศัยจากผู้ซื้อภายในประเทศจะยังคงชะลอตัวในขณะที่อัตราการปฎิเสธสินเชื่อจากธนาคารสำหรับตลาดในระดับราคาปานกลางถึงต่ำจะยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ในประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายจากโครงการบ้านจัดสรรจะเติบโตที่ระดับ 5% ต่อปีในช่วงปีการเงิน 2564-2565 และจะเติบโตที่ระดับ 10% เป็น 1.6 หมื่นล้านบาทในปีการเงิน 2566 จากการคาดการณ์ว่าบริษัทจะเปิดโครงการใหม่มูลค่า 1.7-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมียอดขายจากโครงการคอนโดมิเนียมโลว์ไรซ์เพิ่มเข้ามาตั้งแต่ปีการเงิน 2565 เป็นต้นไปด้วย

บริษัทมียอดขายรอการส่งมอบ ณ เดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 2.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะส่งมอบยอดขายมูลค่า 1.9 พันล้านบาทในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีการเงิน 2564 และส่วนที่เหลือในปีการเงิน 2565 แม้ว่าการแข่งขันในตลาดทาวน์เฮ้าส์ระดับราคา 2-5 ล้านบาทซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทจะมีความรุนแรงมากขึ้น แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัทจะอยู่ที่ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2564-2566 โดยทาวน์เฮ้าส์จะยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักซึ่งมีสัดส่วนเกินกว่า 50% ของรายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยอาจลดลงเหลือ 26% ในปีนี้แต่ก็น่าจะปรับดีขึ้นเป็น 30% ในช่วงปีการเงิน 2565-2566

– คาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมให้เช่าจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมให้เช่าของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจต่อไปตลอดช่วงประมาณการ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะก่อสร้างพื้นที่ให้เช่า 200,000-300,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ต่อปีในช่วงปีการเงิน 2564-2566 โดยประมาณ 90% ของพื้นที่ให้เช่าใหม่นี้จะเป็นคลังสินค้าสั่งสร้างซึ่งมีผู้เช่าแล้ว นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะขายพื้นที่ให้เช่าจำนวน 150,000-180,000 ตร.ม.ต่อปีให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมเฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT) โดยคาดว่ามูลค่าขายจะอยู่ในช่วง 3.0-3.5 พันล้านบาทขึ้นอยู่กับสภาวะของตลาด ในขณะที่บริษัทน่าจะคงพื้นที่ให้เช่าในส่วนของบริษัทเองที่ประมาณ 1.2-1.3 ล้านตร.ม.ตลอดช่วงประมาณการ

แม้ว่าความต้องการคลังสินค้าให้เช่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของกิจกรรมด้านอีคอมเมิร์ซ แต่การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ก็อาจสร้างความท้าทายให้แก่บริษัทมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ จากผลงานที่เป็นที่ยอมรับในธุรกิจคลังสินค้าสั่งสร้างทำให้คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราการเช่าคลังสินค้าให้ไม่ต่ำกว่าระดับปัจจุบัน โดยมีพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 160,000-200,000 ตร.ม.ต่อปีในช่วงปีการเงิน 2564-2566 ส่วนอัตราการเช่าโรงงานน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 50%-60% โดยมีพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 18,000-25,000 ตร.ม.ต่อปี ทริสเรทติ้งคาดว่าอายุสัญญาเช่าโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 ปีจาก 2-3 ปีตามสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของอายุสัญญาที่ยาวขึ้นของคลังสินค้าสั่งสร้าง ทั้งนี้ รายได้ค่าเช่าจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมให้เช่าคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.6-1.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2564-2566 โดยสัดส่วนรายได้จากคลังสินค้าน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากระดับ 72%-73% ในช่วงปีการเงิน 2561-2563

– ธุรกิจโรงแรมคาดว่าจะค่อยๆฟื้นตัว ในขณะที่อุปสงค์พื้นที่สำนักงานให้เช่าจะยังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อไป ทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยจะยังคงเผชิญกับสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังดำเนินอยู่ต่อไปอีกจนถึงช่วงครึ่งแรกของปีการเงิน 2565 รายได้ของบริษัทจากธุรกิจโรงแรมลดลงเหลือ 331 ล้านบาทในปีการเงิน 2563 และเหลือ 119 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2564 จาก 566 ล้านบาทในปีการเงิน 2562

ทริสเรทติ้งคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปีสำหรับธุรกิจโรงแรมที่จะฟื้นตัวกลับมามีผลการดำเนินงานเท่ากับระดับก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยอัตราการเข้าพักของโรงแรมแต่ละแห่งของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีข้างหน้า และน่าจะอยู่ในระดับเท่ากับในปี 2562 ได้ภายในปีการเงิน 2567

ส่วนค่าเช่าเฉลี่ยในปีการเงิน 2564 คาดว่าจะต่ำกว่าค่าเช่าเฉลี่ยของปี 2562 ที่ระดับ 30%-40% หลังจากนั้นจะปรับดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าในปี 2562 ที่ 20%-30% ภายในปีการเงิน 2566 และจะใกล้เคียงกับระดับก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ภายในปี 2567 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมของบริษัทในปีนี้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 25% ของรายได้ในปี 2562 และน่าจะปรับดีขึ้นเป็น 200-350 ล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2565-2566 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีต่อการดำเนินธุรกิจสำนักงานให้เช่าของบริษัทนั้นถือว่ามีไม่มากอันเนื่องมาจากรูปแบบของสัญญาเช่าสินทรัพย์ประเภทนี้ อัตราการเช่า ณ เดือนมิถุนายน 2564 ของ “อาคารสาทร สแควร์” และ “อาคารเอฟ วาย ไอ เซ็นเตอร์” ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 94% และ 95% โดยเฉลี่ยตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราค่าเช่าโดยเฉลี่ยของทั้งสองอาคารนี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

ในขณะที่อัตราการเช่าและอัตราค่าเช่าของ “อาคารโกลเด้น แลนด์ บิลดิ้ง” ลดลงตั้งแต่ปีการเงิน 2563 เป็นต้นมาตามอายุสัญญาเช่าคงเหลือที่สั้นลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าที่ชะลอตัวลงซึ่งมีอัตราเร่งจากการแพร่ของโรคระบาด รวมถึงพื้นที่เช่าสำนักงานที่คาดว่าจะมีมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าทำให้ ทริสเรทติ้งคาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราการเช่าและอัตราค่าเช่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ อาคารสำนักงานของบริษัทอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ดีจึงคาดว่ารายได้จากอาคารสำนักงานจะอยู่ที่ระดับ 500-600 ล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2564-2566 โดยจะมีรายได้จากอาคารสำนักงานแห่งใหม่เพิ่มเข้ามาในช่วงปีการเงิน 2566 เป็นต้นไป

– การขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วจะทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น จากแผนการขยายธุรกิจทั้งในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอาจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9-11 เท่าจากประมาณ 7-8 เท่าในช่วงปีการเงิน 2562-2563 ดังนั้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจึงน่าจะลดลงเหลือประมาณ 5%-7% ตลอดช่วงประมาณการ จากประมาณ 8%-10% ในช่วงปีการเงิน 2562-2563

ในสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายจ่ายฝ่ายทุนสำหรับธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัทจะอยู่ที่จำนวน 8 พัน-1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมที่จำนวน 3-4 พันล้านบาทต่อปี รวมถึงเงินลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ที่จำนวน 1.5 พันล้านบาทในปีนี้ และจำนวน 2.6 พันล้านบาทในปีการเงิน 2565

ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันจากผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงและอัตรากำไรที่ลดลง โดยประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ 4.5-5.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2564-2566 จาก 6-7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2562-2563 และเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับ 2.5-3.5 พันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม แผนการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์และการรับรู้รายได้จากการลงทุนต่างๆจะช่วยบรรเทาความต้องการแหล่งเงินกู้ยืมได้ส่วนหนึ่ง

ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินรวม (ตามการพิจารณาลำดับชั้นในการได้รับคืน) เท่ากับ 4.82 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 1.54 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทแม่และบริษัทย่อยต่าง ๆ รวมทั้งหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อยหลายแห่ง ดังนั้น อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทางการเงินรวมอยู่ที่ 32% แต่เนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวน้อยกว่า 50% ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจึงพิจารณาว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทไม่มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากลำดับชั้นในการได้รับชำระคืนต่อสินทรัพย์ของบริษัท

– สภาพคล่องเพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะมีเพียงพอในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.93 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 1.31 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 5.1 พันล้านบาท เงินกู้ระยะยาวโครงการจำนวน 0.8 พันล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่าจำนวน 0.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 แหล่งเงินทุนของบริษัท (ตามงบการเงินรวม) ประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 1.1 พันล้านบาท วงเงินกู้โครงการที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่สามารถยกเลิกได้จำนวน 6.3 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้และสามารถยกเลิกได้จำนวน 8.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีที่ดินเปล่าที่ปลอดภาระค้ำประกันมูลค่าตามบัญชีจำนวน 1.23 หมื่นล้านบาท และสินค้าที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขายในโครงการที่ปลอดภาระหนี้ของบริษัทซึ่งมีมูลค่าขายอีกจำนวน 3.7 พันล้านบาท อีกทั้งยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในปีการเงิน 2565 จะอยู่ที่ 3.2 พันล้านบาทอีกด้วย

ตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ที่กำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3 เท่านั้น ณ เดือนมิถุนายน 2564 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.52 เท่า ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปีการเงิน 2564-2566 มีดังนี้

– บริษัทจะเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่มูลค่า 1.7-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

– งบประมาณในการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยคาดว่าจะอยู่ที่ 3 พันล้านบาทในปีการเงิน 2564 และ 5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2565-2566

– เงินลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมคาดว่าจะอยู่ที่ 3-4 พันล้านบาทต่อปี

– เงินลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาทในปีนี้ และ 2.6 พันล้านบาทในปีการเงิน 2565

– รายได้จากการดำเนินงานรวมคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.5-1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี

– อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะสูงเกินกว่า 30% และอัตรากำไรสุทธิจะสูงเกินกว่า 10%

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดและผลการดำเนินงานเอาไว้ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินให้สูงเกินกว่า 5% และคงภาระหนี้สินไม่ให้สูงเกินกว่าระดับที่คาดการณ์เอาไว้ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นบริษัทที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ FPL ต่อไปด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นในกรณีที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าการคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญและสถานะทางการเงินปรับดีขึ้นโดยมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสูงเกินกว่า 10% อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงหรือบริษัทขยายธุรกิจเชิงรุกโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมจนทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินลดต่ำลงกว่า 5% นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับ FPL ที่เปลี่ยนแปลงไปก็อาจจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ต.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top