รพ.สนามธรรมศาสตร์ เตรียมปิดดีลร่วมมือเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด 10 ล้านโดส 31 ต.ค.

เฟซบุ๊กโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่มีการประกาศข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งสภามหาวิทยาลัย ให้ความเห็นชอบแล้วในราชกิจจานุเบกษา ทาง รพ.ได้ดำเนินการในเรื่องการจัดหายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิด ในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างระยะเวลา 8 สัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างขะมักเขม้น ในหลายกรณี สรุปได้ดังนี้

– ต้นเดือนกันยายน ได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีน Moderna จำนวน 2 ล้านโดส มาในประเทศในนาม มธ. โดยเอกชนรายนี้จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เพื่อนำวัคซีนมากระจายฉีดแก่ประชาชนโดยผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชน โดย มธ.จะขอรับบริจาค Moderna ในจำนวน 1 แสนโดสจากจำนวนทั้งหมด มาเพื่อใช้ฉีดให้กับผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ จากการฉีดวัคซีนในส่วนของ มธ.นี้

– ปลายเดือนกันยายน ได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ในการนำเข้าวัคซีน mRNA (Moderna และ Pfizer) จำนวน 5 ล้านโดส เข้ามาในประเทศในนามมธ. โดยเอกชนรายนี้ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนทั้งหมด เพื่อกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ โดย รพ.ธรรมศาสตร์ ยังคงจะได้รับบริจาควัคซีนอีกหลายแสนโดสจากจำนวนนี้ มาเพื่อกระจายฉีดให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ หากสามารถนำวัคซีนเข้ามาได้สำเร็จ

– ต้นเดือนตุลาคม มธ.ได้ติดต่อกับสถาบันวัคซีนของประเทศในยุโรปตะวันออกประเทศหนึ่ง โดยการประสานของภาคเอกชน ด้วยการช่วยอำนวยความสะดวกของสถานทูตไทย เพื่อจะขอรับวัคซีน Moderna ในลักษณะการบริจาคให้ มธ.จำนวน 3 ล้านโดส แต่ทาง รพ.จะต้องรับผิดชอบการขนส่ง โลจิสติกส์ การดูแลควบคุมคุณภาพ และการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านยูโร และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานและเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

” ทั้งสามกรณีนี้ โดยที่เราตระหนักถึงความเร่งด่วนจำเป็นของการมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาใช้ในประเทศไทย จึงได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการของความตกลงจัดหาวัคซีนทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ตุลาคม 64 นี้ทั้งหมด” รพ.สนามธรรมศาสตร์ ระบุ

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ทางรพ.ได้ติดต่อเจรจากับตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของยุโรปตะวันตก ซึ่งกำลังดำเนินการวิจัย ค้นคว้าทดลองและผลิตวัคซีน Protein base ชนิดใหม่ (ที่ไม่ใช่ Novavax) ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการทดลองในเฟสที่ 3 และคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลกได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

โดยธรรมศาสตร์ตกลงจะเข้าร่วมการวิจัยทดลองวัคซีนใน Phase ที่ 3 นี้ด้วย และหากสามารถขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิดนี้ได้สำเร็จ ก็จะร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ในการจะนำเข้าวัคซีน Protein base ชนิดนี้ เพื่อเข้ามาใช้ในประเทศไทยโดยเร็วที่สุดและอย่างกว้างขวางที่สุด ในฐานะที่เป็นวัคซีนทางเลือก เพื่อจะใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามสำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีนในต้นปีหน้า

อีกทั้ง รพ.ธรรมศาสตร์ ได้ทำความตกลงร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยา Generic name ของ Molnupilavir ในประเทศอินเดีย เพื่อร่วมการทดลองประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้กับผู้ป่วยโควิด ในระยะที่ 3 ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม และจะทำ Clinical Trial เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้ใน รพ.ธรรมศาสตร์ โดย รพ.เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในวิจัยทางคลินิกทั้งหมดที่เกิดขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการการวิจัยต่อคณะกรรมการจริยธรรมทางการวิจัย และกำลังรอรับการจัดส่งยาที่จะใช้ในโครงการนี้มายังประเทศไทย โดยได้ทำความตกลงเบื้องต้นแล้วที่จะสั่งยาชนิดนี้อีกจำนวน 200,000 เม็ด เพื่อจะนำมาใช้กับผู้ป่วยของเราทันทีที่ FDA ให้การรับรองยาชนิดนี้เป็นที่เรียบร้อย และได้ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยเรียบร้อยแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top