สทนช.เร่งคลี่คลายน้ำท่วมท่าจีน ปรับลดการรับน้ำ-เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มอบหมายให้ สนทช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กอนช. ลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามสภาพปัญหาการระบายน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน และเร่งรัดให้ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว ภายหลัง กอนช.มอบหมายให้กรมชลประทานตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัย (ส่วนหน้า) ลุ่มน้ำท่าจีน และมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาพรวมทั้งลุ่มน้ำท่าจีน และรายงานต่อ กอนช.ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่

  1. จัดจราจรน้ำโดยใช้ประตูระบายน้ำ (ปตร.) ต่าง ๆ
  2. ปรับลดการรับน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน ตามปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ลดลง เพื่อควบคุมไม่ให้ระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้น และปรับลดการระบายน้ำ ปตร.ท่าโบสถ์ ปตร.กระเสียว-สุพรรณ และปตร.โพธิ์พระยา รวมทั้งให้หน่วงน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำและทยอยระบายน้ำเมื่อระดับน้ำแม่น้ำท่าจีนเริ่มลดลง
  3. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำให้ลงสู่ทะเลโดยเร็ว

ขณะเดียวกัน กอนช.ยังได้ประสานกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือแนวทางเพิ่มการระบายน้ำจากทุ่งเจ้าเจ็ด พระยาบรรลือ และพระพิมล ลงสู่พื้นที่แก้มลิงมหาชัยเพื่อช่วยลดระดับน้ำท่วม และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ทั้งด้านบริหารจัดการน้ำและการให้ความช่วยเหลือประชาชน ผ่านศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน เพื่อเร่งช่วยลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“การลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่รับน้ำบางส่วนมาจากแม่น้ำท่าจีน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดนครปฐมที่เป็นสวนไม้ผล ส้มโอ และจุดที่เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบในเขตอำเภอนครชัยศรี โดยหารือกับนายกเทศมนตรีตำบลขุนแก้ว อ.นครชัยศรี และผู้นำชุมชน เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจต่อข้อห่วงใยของรัฐบาลในการเร่งคลี่คลายปัญหาในพื้นที่ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. โดยเฉพาะการใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน

ลดการรับน้ำผ่าน ปตร. พลเทพ (ปากแม่น้ำท่าจีน) จากอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที เป็น 60 ลบ.ม./วินาที และจะทยอยลดลงตามลำดับ ประกอบกับการรับน้ำผ่านคลองชลประทานเพิ่มมากขึ้น ด้านฝั่งตะวันตก ได้แก่ คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง (คลอง มอ.) จาก 15 ลบ.ม./วินาที เป็น 25 ลบ.ม./วินาที และคลองมะขามเฒ่า-กระเสียว(คลอง มก.) จาก 8 ลบ.ม./วินาที เป็น 12 ลบ.ม./วินาที ด้านฝั่งตะวันออก คลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่าน ปตร.มโนรมย์ จาก 120 ลบ.ม./วินาที เป็น 140 ลบ.ม./วินาที คลองชัยนาท-อยุธยา รับน้ำผ่าน ปตร. มหาราช จากอัตรา 31 ลบ.ม./วินาที เป็น 35 ลบ.ม./วินาที รวมถึงติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนตามจุดต่าง ๆ ในการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลเพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว” นายสุรสีห์กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top