ครม.อนุมัติแก้กม.ใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน อำนวยความสะดวกให้ประชาชน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับปี 2550 โดยมีสาระสำคัญดังนี้คือ

1.กำหนดให้เพิ่มหน้าที่กระทรวงการคลังสามารถทำหน้าที่ตัวแทนการจ่ายเงินสำหรับตราสารหนี้ภาครัฐ และเป็นผู้รับฝากตราสารหนี้ประเภทไร้ใบตราสารได้ จากเดิมกำหนดให้เฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือนิติบุคคลที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนดทำหน้าที่ดังกล่าวได้เท่านั้น รวมทั้งกำหนดให้มีการระบุทะเบียนตราสารหนี้กรณีตราสารหนี้ประเภทไร้ใบตราสาร เฉพาะชื่อผู้รับฝากตราสารหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ

2.ปรับปรุงคุณสมบัติของนิติบุคคล จากเดิมเป็น “สถาบันการเงิน” ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถยื่นขอเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ได้

3.กำหนดเพิ่มวิธีการจัดจำหน่ายตั๋วเงินคลังในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงหรือตกลงราคาได้เช่นเดียวกับวิธีการจำหน่ายพันธบัตรและกำหนดรายละเอียดการจัดจำหน่ายตั๋วเงินคลังโดยวิธีการเสนอประมูลอัตราผลตอบแทนและวิธีการเสนอซื้อไว้ในประกาศหรือหลักเกณฑ์ลำดับรองที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด

4.กำหนดประเภทผู้รับเงินของตั๋วเงินและพันธบัตร ให้ครอบคลุมถึงผู้รับหลักประกันตามที่ตกลงกัน หรือผู้รับตามที่นายทะเบียนกำหนด เพื่อความชัดเจนและความสะดวกในการบริหารจัดการการใช้เงินของตัวแทนการจ่ายเงินให้สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้โดยสะดวกรวดเร็ว

5.กำหนดให้สามารถชำระหนี้ให้กับตราสารหนี้ประเภทมีใบตราสารโดยไม่ต้องนำใบตราสารมาเวนคืน และให้นำหลักการนี้มาใช้กับตราสารหนี้ที่ออกก่อนที่ร่างกฎกระทรวงนี้จะมีผลใช้บังคับด้วย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ถือตราสารหนี้ในการขึ้นเงินเมื่อครบกำหนด และ

6.กำหนดให้ร่างกฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ระบุว่า การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้จะมีประโยชน์ 2 ด้านคือ ประโยชน์ต่อภาครัฐ กระทรวงการคลังจะมีความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการกู้เงินและตราสารหนี้ภาครัฐมากยิ่งขึ้น และสามารถยกระดับกระบวนงานออกพันธบัตรทั้งระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดการลดกระบวนงาน ระยะเวลา และต้นทุนการกู้เงินของภาครัฐ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐในการตอบสนองความต้องการในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินของประชาชน และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งยังสนับสนุนการสร้างสังคมแห่งการออม ลดความเหลื่อมล้ำ และสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีตามนโยบายภาครัฐ

อีกด้านคือประโยชน์ต่อประชาชน เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ด้วยตนเองได้จากทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม และทำให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว และมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลงในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top