ศูนย์วิจัยกสิกร ปรับเพิ่ม GDP ปี 64 เป็น +0.2%รับคลายล็อก-เปิดปท.จากเดิม -0.5%

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 64 เพิ่มขึ้นมาเป็นขยายตัว 0.2% จากเดิมที่คาดว่าหดตัว 0.5% จากผลการคลายล็อกดาวน์และการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นกว่าที่ประเมินไว้

ปัจจัยสนับสนุนมาจากการปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาเป็น 180,000 คน จากเดิมที่ 150,000 คน ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและการลงทุนภาครัฐที่ออกมาดีกว่าและเร็วกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเห็นตัวเลขที่การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐออกมาใกล้เคียงกับช่วงปีปกติ ทำให้เป็นปัจจัยที่เข้าหนุนเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/64 จะเห็นการพลิกกลับมาเป็นบวกอย่างชัดเจนจากไตรมาส 3/64 ที่เศรษฐกิจอยู่ในระดับจุดต่ำสุดของปีแล้ว และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเร่งตัวเร็วขึ้น และการผ่อนคายมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ทำให้ความมั่นใจของประชาชนกลับมาดีขึ้น และการทำกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศต่างๆ ฟื้นกลับมา เกิดการกลับมาจับจ่ายใช้สอย ทำให้ภาพรวมในไตรมาส 4/64 เริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดี แต่หากเทียบกับไตรมาส 4/63 ยังมองว่าติดลบอยู่เล็กน้อย

“Momentum ของคนเริ่มดีขึ้น เห็นการออกมาทำงาน มาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งเป็นภาพที่ดีต่อเศรษฐกิจที่ทำให้เรามีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย ถ้าไม่มีอะไรมาสะดุดระหว่างทาง” นางสาวณัฐพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในบางพื้นที่ แต่มองว่าผลกระทบจะไม่ลากยาว และจะสิ้นสุดก่อนปลายปีนี้ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ถือว่ามีผลต่อภาระการครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงปัจจัยโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้น หลังจากบางประเทศ เช่น อังกฤษ และสิงคโปร์ ที่มีการฉีดวัคซีนมาก เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการกลับมาระบาดอีกระลอก จึงเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามหลังจากที่ประเทศไทยเริ่มเปิดประเทศด้วยเช่นกัน

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพิ่มเติมประเด็นผลกระทบจากน้ำท่วม โดยมองว่าผลกระทบส่วนใหญ่น่าจะอยู่ภายในปี 64 โดยสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 64 คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งภาคเกษตร ซึ่งน่าจะกระทบทั้งหมดประมาณ 6-7 ล้านไร่ รวมถึงนอกภาคเกษตร ที่สำคัญคือ ภาคบริการและแรงงานรับจ้างรายวันที่ได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจหยุดชะงักลงบางพื้นที่ในกว่า 30 จังหวัด โดยรวมแล้วคาดว่ากระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.16% ของจีดีพี แต่น้อยกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 51, 53 และ 60 ที่ผ่านมา และได้รวมผลกระทบข้างต้นในประมาณการ GDP ปี 64 แล้ว

สำหรับผลกระทบต่อราคาน้ำมันสูงต่อธุรกิจในปี 64 มองว่าในกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลในระยะที่เหลือของปี 64 อยู่ในช่วง 25.0-29.2 บาท/ลิตร จะมีผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นราว 0.55-0.73% และต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นราว 0.33-0.44% หรือรวมกันธุรกิจจะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1% แต่ท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันชนิดอื่นๆ ปรับขึ้นแรงกว่าน้ำมันดีเซลที่ยังมีกลไกการดูแลราคาจากภาครัฐ รวมถึงการที่ต้นทุนอื่นๆ โน้มเพิ่มขึ้นในภาวะที่ยอดขายยังไม่กลับมา ก็ย่อมจะเพิ่มโจทย์การฟื้นตัวให้กับภาคธุรกิจ ขณะที่ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันต่อในปีหน้าด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองราคาน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 4/64 จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากปัจจัยปริมาณการผลิตน้ำมันและความต้องการใช้น้ำมันยังไม่ปรับเข้าสู่จุดสมดุล หลังจากปัจจัยโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีผลกระทบไม่พร้อมกัน แต่มองว่าในด้านของปริมาณและความต้องการจะสามารถปรับเข้าสู่จุดสมดุลได้ในช่วงปี 65 และทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมา ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองว่าราคาน้ำมันดิบในปี 65 จะอยู่ที่ 72 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

แต่หากประเด็นในเรื่องวิกฤตพลังงานในประเทศจีนยังยืดเยื้อและเริ่มมีวิกฤติมากขึ้น จะเป็นปัจจัยทำให้ราคาน้ำมันดิบในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี 65 มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ได้ ซึ่งหากสถานการณ์เป็นแบบนี้จะไม่เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากต้นทุนพลังงานมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

นางสาวณัฐพร กล่าวเสริมว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เงินเฟ้อในหลายๆประเทศมีการปรับเพิ่มขึ้นสูงตาม ส่งผลให้ธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกเริ่มจับตาเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เพราะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เร่งตัวขึ้น ยังต้องติดตามสาเหตุที่ทำให้เกิดปัจจัยดังกล่าวที่มาจากฝั่งผู้ผลิตหรือผู้บริโภค ซึ่งหากมาจากฝั่งผู้บริโภคจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ และทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ต้องปรับมาใช้นโยบายให้สอดคล้อง ส่วนในประเทศไทยถือว่ายังไม่เห็นสัญญาณที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่อง Stagflation แต่เริ่มมีสัญญาณมาบ้างจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นสูง

“เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะ Stagflation ซึ่งหากเป็นภาพนี้เรามองเงินเฟ้อในปี 65 จะขึ้นไปที่ 1.6% บนเงื่อนไขที่ราคาน้ำมันโลกไม่ได้ยืนอยู่ในระดับสูงมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็นระยะเวลายาวต่อเนื่อง” นางสาวณัฐพร กล่าว

ในส่วนปี 65 มองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวมาเติบโตที่ 3.7% จากความครอบคลุมของประชากรที่จะได้รับวัคซีนเกินกว่า 70% ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ลง และการดำเนินธุรกิจไม่หยุดชะงัก และยังมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การใช้จ่ายครัวเรือนที่ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำและการกลับมาบริโภคหลังจากอั้นไว้ในช่วงล็อกดาวน์ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นราคาพลังงานสูงและเงินเฟ้อ

ด้านค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมองว่ามีโอกาสแข็งค่ากลับมาที่ 32.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสิ้นปี 64 จากปัจุจบันที่เริ่มเห็นทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มาที่กว่า 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และมองว่าภาพของทิศทางค่าเงินบาทในปี 65 ยังเป็นทิศทางแข็งค่า เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และรับข่าวเกี่ยวกับการลด QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไปมากแล้ว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top