ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 8,165 ราย ATK 2,450 ตาย 55 ราย

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,165 ราย ประกอบด้วย

– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,241 ราย

– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 390 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 525 ราย

– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 9 ราย

ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 2,450 ราย

– เสียชีวิต 55 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,920,189 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 9,574 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 19,260 ราย

จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 625 ราย, นครศรีธรรมราช 539 ราย, สงขลา 476 ราย, ปัตตานี 448 ราย, เชียงใหม่ 378 ราย, นราธิวาส 351 ราย, ตรัง 295 ราย, ยะลา 290 ราย, ชลบุรี 259 ราย และสมุทรปราการ 249 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า ทิศทางผู้ติดเชื้อทั่วประเทศมีแนวโน้มลดลง รวมถึงในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทางศบค.มีความเป็นห่วงเทศกาลในช่วงเดือนพ.ย.ที่มีงานทอดกฐิน และที่ผ่านมาในเทศกาลบั้งไฟที่หนองคายก็พบผู้ติดเชื้อ และมีการเดินทางข้ามพื้นที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อที่อุดรธานีด้วย รวมถึงพบผู้ติดเชื้อจากการแข่งขันฟุตบอลที่อุดรธานีด้วย ซึ่งศบค.ขอเน้นย้ำให้ทางจังหวัด ผู้จัดงาน และประชาชนในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ เริ่มพบผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์งานแต่งงาน ที่เชียงใหม่ จึงฝากให้ผู้จัดงานคัดกรองผู้ร่วมงานด้วย และยังพบที่แคมป์คนงาน ที่พักแรงงาน ที่ชลบุรี นครนายก เชียงใหม่ และประจวบคีรีขันธ์

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า มีจังหวัดที่กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ขอนแก่น ระยอง เชียงใหม่ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ขณะที่ ตาก จันทบุรี เป็นจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ

พญ.อภิสมัย กล่าวถึง การเปิดประเทศในวันนี้เป็นวันแรก ว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รวมถึงคณะผู้บริหารได้ไปตรวจเยี่ยมจุดคัดกรองที่สนามบินสุวรรณภูมิ และถือเป็นการทดสอบระบบ Thailand Pass เป็นครั้งแรก ซึ่งช่วงกลางดึกคืนวานนี้ มีเที่ยวบินจากญี่ปุ่น โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมา 43 คน แต่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเดินทางกลับบ้าน มีนักท่องเที่ยวเพียง 11 คน ในเวลา 11.10 น.วันนี้ ได้ต้อนรับเที่ยวบินจากประเทศสิงค์โปร์

สำหรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย จะต้องเป็นการทยอยรับเข้ามา ระหว่างนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะตรวจสอบทดสอบระบบว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ และสิ่งสำคัญสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศได้มีการประกาศประเทศเพิ่มเติม ที่สามารถเดินทางเข้าไทยได้ในโครงการนี้จำนวน 61 ประเทศ + 2 พื้นที่ ซึ่งพื้นที่เพิ่มเติม ประกอบด้วยโครเอเชีย อินเดีย อินโดนีเซีย คูเวต ลาว ลักเซมเบิร์ก มัลดีฟส์ มองโกเลีย เมียนมา เนปาล โอมาน ฟิลิปปินส์ โรมาเนีย ศรีลังกา สาธารณรัฐสโลวัก เวียดนาม ไต้หวัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กได้มีการหารือแนวทางการจัดสรรวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าว ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคได้ลงนาม และเมื่อมีวัคซีนเพียงพอในแต่ละจังหวัด จะมีการประกาศให้ผู้ประกอบการ นำแรงงงานต่างด้าวที่อยู่ในการดูแลเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนนี้ถ้าวัคซีนเป็นไปตามแผนที่สาธารณสุขคาดการณ์ไว้ จะมีวัคซีนทั้งสิ้น 24 ล้านโดสเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งถือว่ามีวัคซีนเพียงพอสำหรับคนไทย และสามารถฉีดวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าวได้ด้วย ขณะที่รายงานการฉีดวัคซีนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไฟเซอร์ + ไฟเซอร์ 2 เข็ม เพื่อเป็นการตอบโต้สายพันธุ์เฉพาะ

อีกทั้งวันนี้ถือว่าเป็นวันเปิดเทอมวันแรก สำหรับการการสุ่มตรวจ ATK นั้น ในข้อกำหนดฉบับที่ 34 ของกระทรวงศึกษาธิการในหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ระบุการตรวจหาเชื้อโควิดในโรงเรียน ซึ่งสิ่งสำคัญจะต้องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกทม. กำหนดได้ตามความเหมาะสมของการระบาดในพื้นที่ แยกทั้งระดับอำเภอและจังหวัด และสิ่งสำคัญโรงเรียนต้องประเมินตนเองตามมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดติดเชื้อ ซึ่งเป็นแบบสอบถามของกรมอนามัย และทางครู อาจารย์ต้องมีการประเมินตนเองเช่นเดียวกัน และผู้ปกครองต้องประเมินตนเองด้วยทุกวัน ส่วนการตรวจATK ไม่ใช่ตรวจนักเรียนทุกคนหรือ ไม่จำเป็นต้องตรวจแบบปูพรม แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ แม้มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด แต่ยังติดเชื้อในโรงเรียนให้ผู้บริหารโรงเรียน หรือ คณะกรรมโรคติดต่อพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน แต่ต้องมีการสอบสวนโรคทันที ให้เลือกปิดเฉพาะชั้นเรียนที่มีความเสี่ยงเท่านั้น

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 247,461,079 ราย เสียชีวิต 5,014,947 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 46,823,938 ราย อันดับ 2 อินเดีย 34,285,612 ราย อันดับ 3 บราซิล 21,810,855 ราย อันดับ 4 สหราชอาณาจักร 9,057,629 ราย และอันดับ 5 รัสเซีย 8,513,790 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 24

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top