รมช.พาณิชย์ เร่งผลักดันแก้ไขกม.ลิขสิทธิ์ รองรับอุตฯดิจิทัลคอนเทนต์

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์ได้อย่างทันท่วงทีว่า ล่าสุดร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้ว และกำลังเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป

“กฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ เพราะหากพบการละเมิดบนสื่อออนไลน์ต้องใช้กระบวนการทางศาลเพื่อระงับการเผยแพร่ และยังไม่มีบทกำหนดโทษแก่ผู้ผลิต ผู้ขายอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเพื่อการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ได้แก้ไขกฎหมายนี้ใหม่ โดยกำหนดให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น Facebook, YouTube นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบทันทีเมื่อได้รับการแจ้งเตือน โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล ซึ่งจะช่วยให้สามารถระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ได้อย่างทันท่วงที และยังเอาผิดไปถึงผู้ผลิต ผู้ขายอุปกรณ์ละเมิดได้อีกด้วย”

นายสินิตย์ กล่าว

นอกจากนี้ การแก้ไขดังกล่าวยังเป็นการดำเนินการเพื่อรองรับการที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิกความตกลงสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่ไทยมีศักยภาพ และช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น

ขณะเดียวกันยังส่งผลเชิงบวกที่จะทำให้ไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (ดับบลิวแล) ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ในการทบทวนรายงานประจำปี 65 ในช่วงสิ้นเดือน เม.ย.65 ด้วย

ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ได้ทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในการบังคับใช้ทั้งหมด มีการปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับกติกาสากล การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

สำหรับเนื้อหาที่เป็นหลักเกณฑ์สำคัญก็ได้มีการระบุให้ชัดเจนในตัวกฎหมาย แทนที่จะกำหนดอยู่ในกฎกระทรวงหรือประกาศกระทรวง สำหรับการปรับปรุงที่เป็นสาระสำคัญ เช่น การแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown) การกำหนดนิยามมาตรการทางเทคโนโลยีให้ชัดเจน เพิ่มบทลงโทษให้รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีด้วย เป็นต้น

โดยการแก้ไขครั้งนี้ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนการแก้ไขครั้งนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top