กสิกรฯ คาดกนง. 10 พ.ย.ยังตรึงดอกเบี้ย จับตาราคาน้ำมันกดดันเงินเฟ้อเร่งตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% หลังเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการคลายล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด ส่งผลดีต่อการจ้างงาน แม้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในปีนี้ยังคงมีจำกัด แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็มีทิศทางที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า

ขณะที่การเร่งฉีดวัคซีนคาดว่าจะส่งผลให้ประชากรไทยได้รับวัคซีนครบโดสเกิน 70% ไม่เกินต้นปีหน้าเป็นอย่างช้า ซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดน้อยลง แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยจะเห็นได้จากหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ จีน อังกฤษ และรัสเซีย ต่างเผชิญกับการกลับมาเพิ่มสูงขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง ดังนั้นการประชุม กนง.ที่จะถึงนี้คาดว่าน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่

ถึงแม้เงินเฟ้อจะเร่งสูงขึ้นอย่างมากจากราคาพลังงาน แต่โดยรวมระดับเงินเฟ้อของไทยคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ กนง.ที่ 1.0-3.0% แต่ยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่อง หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นเหนือระดับ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล และไม่ย่อตัวลงมาอย่างที่คาด ซึ่งจะสร้างความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อไทยเดือน ก.ย.เร่งตัวสูงขึ้นที่ 1.7% YoY หลังจากมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาน้ำมันเร่งสูงขึ้น

โดยช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อจะเร่งสูงขึ้นกว่าเดิมตามแนวโน้มราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับพื้นที่ทำการเกษตรหลายแห่งประสบปัญหาน้ำท่วมซึ่งส่งผลให้ราคาผักบางชนิดเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดีคาดว่าทั้งปี 2564 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 1.2% โดยภาครัฐจะยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน แต่หากราคาน้ำมันดิบโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปและไม่ย่อตัวลงในปีหน้า อาจส่งผลให้ในระยะข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อไทยอาจพุ่งสูงขึ้นเกินกว่ากรอบเป้าหมายได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ stagflation ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลให้ กนง.เผชิญความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

เนื่องจากหาก กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะยิ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และในทางตรงกันข้ามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเงินเฟ้ออย่างตรงจุดและจะยิ่งฉุดรั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจให้อ่อนแรงกว่าเดิม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top