ลาซาด้าเผยผู้ค้าออนไลน์ 76% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองมุมบวกเรื่องการเติบโต

รายงานดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (Digital Commerce Confidence Index: DCCI) ฉบับล่าสุดของลาซาด้า ระบุว่า มากกว่าสามในสี่ (76%) ของผู้ขายสินค้าออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับการเติบโตในอนาคต ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 70% เมื่อเทียบกับรายงานฉบับก่อนหน้าที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะต้องเผชิญกับความท้าทายก็ตาม โดยผลการสำรวจยังชี้ด้วยว่า ธุรกิจต่าง ๆ ต้องการเพิ่มสินค้าคงคลังและพนักงานให้พร้อมสำหรับเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ส่งท้ายปีอย่าง 11.11 และ 12.12

แม็กนัส เอ็คบอม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของลาซาด้ากรุ๊ป เปิดเผยว่า เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นว่าผู้ขายออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีมุมมองบวก และมีความสามารถในการฟื้นตัว แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ด้วยมุมมองบวกดังกล่าว ผู้ขายออนไลน์จึงเตรียมที่จะจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโต เป็นตัวเร่งสำคัญที่นำไปสู่โอกาสในการสร้างงาน ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศต่อไป

การสำรวจดังกล่าว จัดทำขึ้นในช่วงสิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 โดยมีผู้ขาย 900 รายเข้าร่วมตอบแบบสำรวจ ซึ่งผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า 4 ใน 5 ของผู้ขาย (79%) กำลังเพิ่มจำนวนสินค้าคงคลัง และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ (47%) กำลังพิจารณาที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่า สินค้าคงคลังและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้คนจำนวนมากกำลังหางาน ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของอุตสาหกรรมค้าปลีก โดยผู้ขายออนไลน์มีมุมมองบวกเกี่ยวกับยอดขายในช่วงเวลานี้ (ไตรมาสที่ 4) มากกว่ายอดขายในไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ 73% ของผู้ขายเตรียมเพิ่มระดับสินค้าคงคลัง และ 40% คิดว่าจะเพิ่มจำนวนพนักงาน

มุมมองบวกดังกล่าวเป็นผลมาจากไตรมาส 3 ที่สดใส โดย 52% ของผู้ขายมียอดขายออนไลน์ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะทำให้เกิดข้อจำกัดที่เข้มงวดทั่วทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ คาดว่าด้วยมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และด้วยความจำเป็นที่ผู้บริโภคต้องหันมาหาซื้อสินค้าในครัวเรือนผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ขายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) จึงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเป็นอันดับต้น ๆ ในไตรมาสที่ 3 โดย 61% ของผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภครายงานยอดขายที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่ผู้ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (76%) และสินค้าทั่วไป (79%) เปิดเผยว่า รู้สึกเชื่อมั่นมากขึ้นว่าสินค้าของตนเองจะเป็นที่ต้องการในอนาคต เมื่อเทียบกับในไตรมาสที่ 3

“ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเทศกาลช้อปปิ้งและมหกรรมลดราคาครั้งใหญ่ส่งท้ายปีอย่าง 11.11 ซึ่งจะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ สำหรับแบรนด์และผู้ขายหลายราย กิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สร้างบรรทัดฐานใหม่สำหรับการเติบโต อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการดึงดูดลูกค้าประจำและลูกค้าใหม่ แม้ว่าเราจะจัดแคมเปญดับเบิ้ลดิจิตหลายครั้งในปีนี้ แต่แคมเปญเหล่านั้นก็เทียบไม่ได้กับเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ที่ยังคงได้รับการต้อนรับจากผู้ขายมากมาย เพราะถือเป็นอีเวนท์สำคัญที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายก่อนสิ้นปี”

เรย์มอนด์ หยาง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของลาซาด้า กรุ๊ป กล่าว

ทั้งนี้ ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่า ผู้บริโภคมากกว่า 350 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นผู้บริโภคดิจิทัล ซึ่งเติบโตอย่างมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้บริโภคดิจิทัลที่มีอยู่ 280 ล้านคนในช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ในปี 2562 นี่เป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ขายออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่เหล่านี้ และกระตุ้นยอดขาย นอกจากนี้ เทศกาลช้อปปิ้งยังถือเป็นช่วงเวลาสำหรับผู้ขายในการเร่งสร้างแบรนด์ก่อนเข้าช่วงปีใหม่ และการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของภาคธุรกิจค้าปลีก เมื่อข้อจำกัดต่างๆ ผ่อนคลายลง

ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (Digital Commerce Confidence Index: DCCI) ชี้วัดความเชื่อมั่นทางธุรกิจด้วยการสำรวจความคิดเห็นของผู้ขายออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์) โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ลาซาด้าได้ทำการสำรวจผู้ขาย 900 ราย เกี่ยวกับยอดขายออนไลน์ในปัจจุบัน และความคาดหวังที่มีต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอนาคต ทั้งนี้ ดัชนีแบ่งเป็น 0 ถึง 100 โดย 0 หมายถึง “มีมุมมองลบอย่างมาก” และ 100 หมายถึง “มีมุมมองบวกอย่างมาก”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top