นายกฯ หารือตุรกี พร้อมร่วมมือเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว-เทคโนโลยี สานต่อ FTA

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง นางแซรัป แอร์ซอย (H.E. Mrs. Serap Ersoy) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ และแสดงความยินดีกับเอกอัครราชทูตตุรกีฯ ที่ได้เข้ารับตำแหน่งในประเทศไทย ไทยยินดีที่จะสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเอกอัครราชทูตตุรกีฯ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-ตุรกีให้ก้าวหน้าต่อไป

พร้อมขอให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จากจุดเด่นที่มีศักยภาพคล้ายคลึงกัน เช่น ทำเลที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค ความเป็นพหุสังคม เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน และ ACD และสอดคล้องกับนโยบาย Asia Anew ของตุรกีที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้น

ด้านเอกอัครราชทูตตุรกีฯ กล่าวยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาดำรงตำแหน่งในประเทศไทย ไทยและตุรกีมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นมิตรประเทศกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งไทยถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญของตุรกี มีศักยภาพในการเป็นประตูเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาค ตลอดจนเป็นประตูสู่ความร่วมมือในระดับอาเซียน พร้อมกล่าวยืนยันจะกระชับความสัมพันธ์ไทย-ตุรกี ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น สานต่อความร่วมมือที่อยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันให้เป็นรูปธรรมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ระหว่างกัน และความร่วมมือระดับภูมิภาค

นายกรัฐมนตรี และเอกอัครราชทูตตุรกีฯ ต่างเห็นพ้องว่าไทยและตุรกี ยังมีศักยภาพระหว่างกันในอีกหลายมิติ โดยได้หารือในประเด็นความร่วมมือระหว่างกัน ดังนี้

– ด้านเศรษฐกิจ ตุรกียินดีที่จะแสวงหาความร่วมมือในการเสริมสร้างการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะการเร่งเจรจาจัดทำความตกลง FTA ไทย – ตุรกี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 เพื่อโอกาสการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตตุรกีฯ ยินดีที่จะส่งเสริมนักลงทุนไทยให้ลงทุนในตุรกีอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนตุรกีเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพิ่มมากขึ้น พร้อมเสนอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย และแผนปฏิบัติการ Green Deal ของตุรกี ซึ่งทางเอกอัครราชทูตตุรกีฯ เห็นพ้องและชื่นชมวิสัยทัศน์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียว สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการของรัฐบาลตุรกี

– ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีเห็นควรที่จะผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งไทยมีความพร้อมในการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว และผู้เดินทางจากต่างประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป โดยดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะพิจารณาเพิ่มเติมรายชื่อประเทศและพื้นที่ต้นทางต่อไปตามสถานการณ์

โดยเอกอัครราชทูตตุรกีฯ ยินดีที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยหวังว่าจะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินมากขึ้นในทั้ง 2 เส้นทางบิน เมื่อการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

– ด้านสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีชื่นชมศักยภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขของตุรกี อาทิ การพัฒนาและผลิตวัคซีน TurkoVac (เทิร์คโคแวก) การฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนอย่างรวดเร็ว ซึ่งไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาและวิจัยวัคซีนเช่นเดียวกัน

– ด้านการป้องกันประเทศ นายกรัฐมนตรียินดีที่จะร่วมมือในระยะยาวกับตุรกี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งทางเอกอัครราชทูตตุรกีฯ เห็นพ้องที่จะร่วมมือและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนะให้ทั้ง 2 ฝ่ายขยายความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านเกษตรอัจฉริยะ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเพื่อให้เกิดความร่วมมือในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนหลังโควิด-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top