ส.ว.สมเจตน์มองแก้ ม.112 ทำได้ยาก หลังศาลรธน.วินิจฉัยกรณีล้มล้างการปกครอง

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยให้ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันของแกนนำคณะราษฎร เข้าข่ายการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้เลิกการกระทำรวมถึงการกระทำของเครือข่ายในอนาคตว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้นผู้ที่จะดำเนินการในประเด็นเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพึงระมัดระวัง ซึ่งรวมถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การดำเนินการต่อไปที่ใกล้เคียงอาจนำไปสู่การฟ้องร้องว่าล้มล้างการปกครอง ในประเด็นที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคง คดีอาญาได้ ดังนั้นผู้ที่จะดำเนินการในประเด็นเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพึงระมัดระวัง

เมื่อถามว่าตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ปิดประตูตายการแก้ไขมาตรา 112 ใช่หรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ไม่ได้ปิดประตูตาย แต่การดำเนินการไม่ง่ายนัก เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับทุกองค์กรให้ต้องปฏิบัติ และรัฐสภาต้องปฏิบัติตาม

“การขับเคลื่อนการแก้ไขมาตรา 112 เชื่อว่าจะเป็นไปได้ยาก ที่ผ่านมา ในสมัยรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยมีผู้ยื่นเรื่องขอแก้ไขมาตรา 112 เข้าสู่สภา แต่ประธานสภาฯ สมัยนั้นไม่รับบรรจุ เหตุผลคือ เป็นการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ส่วนปัจจุบันที่มีกลุ่ม ส.ส.เสนอเรื่องให้สภาฯ พิจารณา ก็เป็นดุลยพินิจของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ จะพิจารณาบรรจุหรือไม่ แต่เชื่อว่าจะมีปัญหา และนำไปสู่การอภิปรายของสมาชิกว่าการกระทำดังกล่าวนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือสุ่มเสี่ยงที่จะรับกฎหมายฉบับนี้หรือไม่”

พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

ส่วนกรณีที่มีการนำคำวินิจฉัยศาลคดีดังกล่าว ไปเปรียบเทียบกับการยึดอำนาจ รัฐประหาร และมองว่าเป็นการล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกันนั้น พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า การยึดอำนาจ รัฐประหาร ผิดอยู่แล้ว แต่เมื่อยึดอำนาจและล้มรัฐธรรมนูญ ทำให้กลายเป็นรัฎฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุด และเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ได้ละเว้นความผิด ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น หากการเมืองไม่เป็นต้นเหตุ และทำให้การบริหารประเทศยึดประโยชน์ประชาชน

“ที่ผ่านมา การเมืองเป็นต้นเหตุของการรัฐประหาร ขอยืนยันว่าการรัฐประหาร เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ เมื่อยึดอำนาจเป็นของเขา และออกกำหนดในบทบัญญัติชั่วคราวในรัฐธรรมนูญเพื่อละเว้นความผิด ขอย้ำว่าหากไม่ต้องการให้รัฐประหารเกิดขึ้น ต้องให้การบริหารเป็นไปโดยวิธีทางการเมืองที่ยึดถือประโยชน์”

พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

ส่วนที่กลุ่มผู้เรียกร้องเตรียมชุมนุมกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า หากไม่มีเหตุดังกล่าว การชุมนุมก็ยังมีและเกิดขึ้นอยู่แล้ว และการชุมนุมหลายครั้งพบว่าไม่มีความสงบ แม้จะระบุว่าเรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นการก่อความวุ่นวาย ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหาการชุมนุน ด้วยการทำความเข้าใจ และหากข้อเรียกร้องใดชอบด้วยกฎหมายและเป็นปัญหาของประชาชน รัฐบาลก็ต้องแก้ไข

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top