ศบค.เห็นชอบแนวทางรับแรงงานต่างด้าวเข้าปท. รองรับความต้องการภาคผลิต

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. รับทราบและเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในโรงงาน ตามที่กระทรวงแรงงานนำเสนอ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการสามารถดำเนินกิจการ โดยมีมาตรการ ดังนี้

1. ยื่นแบบคำร้องขอนำเข้าคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ โดยสามารถยื่นได้ที่กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ 1-10

2.ส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งกรมการจัดหางานจะมีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสถานทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง

3.ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และทำ Name List ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานจัดส่ง Name List ให้กับนายจ้าง

4.เตรียมเอกสารยื่นขอใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ได้แก่ หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 (ถ้ามี) หลักฐานการซื้อประกันสุขภาพบริษัทประกันภัย 4 เดือน โดยนายจ้างต้องแจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคม

5.การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ กรมการจัดหางานจะมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทาง เพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

6.การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องแสดงเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้

  • 1. หนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงานพร้อมบัญชีรายชื่อ
  • 2. ผลตรวจโควิด-19 (วิธี RT-PCR) ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้ามา หรือผลรับรองการตรวจ ATK
  • 3. หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 (ถ้ามี)
  • 4. ตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 2 ปี
  • 5. เดินทางไปยังสถานที่กักตัวโดยยานพาหนะที่แจ้งไว้
  • 7. สถานที่กักตัว กรณีฉีดวัคซีนครบโดส เข้ารับการกักตัวอย่างน้อย 7 วัน ขณะอยู่ในสถานกักตัวตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง (ครั้งที่ 1 ไม่เกินวันแรกของการกักตัว ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7 ของระยะเวลากักตัว) กรณีฉีดวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์หรือยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข้ารับการกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ขณะอยู่ในสถานที่กักตัวต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง (ครั้งที่ 1 ไม่เกินวันแรกของการกักตัว ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 12-13 ของระยะเวลาที่ถูกกักตัว กรณีตรวจโรคโควิด-19 พบเชื้อ ให้เข้ารับการรักษาโรค โดยค่าใช้จ่ายนายจ้างและกรมธรรม์เป็นผู้รับผิดชอบ
  • 8. เมื่อแรงงานต่างด้าวกักตัวครบกำหนด นายจ้างต้องไปรับแรงงานต่างด้าวมายังสถานที่ทำงาน เพื่อทำการอบรมผ่าน Video Conference และแจ้งเข้าทำงานขอรับในอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุขของแรงงานต่างด้าว ซึ่งกิจการหลาย ๆ ประเภทจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงกรณีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพิ่มความเข้มงวด เฝ้าระวัง สกัดกั้นขบวนการขนย้าย ค้าแรงงานต่างด้าวที่แอบลักลอบเข้าประเทศไทยตามแนวชายแดนโดยผิดกฎหมาย

รวมทั้งสั่งการให้กระทรวงแรงงานนำแนวทางดังกล่าวไปขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม รองรับรองรับความต้องการของภาคการผลิตและบริการไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมกับขอความร่วมมือประชาชนทุกคนช่วยกันแจ้งเบาะแส หากพบกระบวนการเคลื่อนย้ายแอบลักลอบแรงงานต่างด้าวเข้าราชอาณาจักรอย่างผิดกฎหมาย เน้นย้ำให้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดและผู้มี่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top