บิ๊กป้อม ลงพื้นที่นครสวรรค์ สั่งเร่งพัฒนาบึงบอระเพ็ด แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังนำคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ว่า จังหวัดนครสวรรค์พื้นที่สำคัญเป็นจุดต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ผ่านมารัฐบาลเร่งขับเคลื่อนแผนแก้ไขปัญหาด้านน้ำเชิงพื้นที่แบบบูรณาการให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะการแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ และปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคในช่วงฝนทิ้งช่วง

การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เน้นย้ำและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงแผนงานโครงการในพื้นที่ให้เกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาด้านน้ำให้กับประชาชน โดยมอบหมายให้ สทนช.เร่งชี้แจงร่างแผนหลักการพัฒนาทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้ประชาชนทราบตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 และบรรจุในแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี เพื่อเป็นกรอบให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะ จ.นครสวรรค์ ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนโครงการเร่งด่วน รวมถึงให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดให้สัมฤทธิ์ผลและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

“ฤดูฝนปีนี้บึงบอระเพ็ดทำหน้าที่ชะลอน้ำหลากจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” สามารถกักเก็บได้กว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ทำให้ชาวนครสวรรค์มีแก้มลิงขนาดใหญ่ รอดพ้นจนภาวะน้ำท่วม และมีน้ำใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ หนอง บึงขนาดใหญ่ ที่จะสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นตามหลักการใช้ประโยชน์ที่ดิน “ให้ หวง ห้าม” ที่มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนทั้งในเรื่องเป้าหมาย เจ้าภาพหลัก และวงเงินตามกรอบเวลาชัดเจน จึงได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยเฉพาะแผนงานโครงการที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้การพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ”

พล.อ.ประวิตร กล่าว

ขณะเดียวกันได้มอบหมายกรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งรัดดำเนินการโครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวัดไทรให้แล้วเสร็จพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำหลากในปีถัดไป และให้กรมชลประทานเร่งสำรวจออกแบบโครงการที่ช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชน และเร่งพัฒนาพื้นที่ที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งต่อไป

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สทนช.ได้ผลักดันแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำโดยมีความเชื่อมโยงในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง รวม 1,750 แห่ง เพิ่มปริมาณน้ำได้ 60 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 70,457 ไร่ พื้นที่ได้รับการป้องกัน 290,068 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 662,013 ครัวเรือน เช่น วางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำบ้านหนองแก่ง จ.นครสวรรค์ เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

สำหรับในปี 65 มีแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอีก 96 แห่ง เพิ่มปริมาณน้ำได้ 7 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 66,065 ไร่ 11,832 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 52,644 ไร่ เช่น แก้มลิงบึงบอระเพ็ด อ.เมืองนครสวรรค์ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองสิงห์บุรี โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ อ.เมืองชัยนาท เป็นต้น ขณะเดียวกันยังได้เร่งขับเคลื่อนแผนโครงการที่สำคัญ อีก 63 โครงการที่จะช่วยกักเก็บน้ำและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 66–67 เช่น คลองระบายน้ำหลาก ชัยนาท-ป่าสัก ขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา จ.อุทัยธานี ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบ้านหมี่ จ.ลพบุรี เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top