สภาพัฒน์ คาด GDP ปี 64 โต 1.2% ส่วนปี 65 โต 3.5-4.5%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 64 จะขยายตัวได้ 1.2% เท่ากับขอบบนของการประมาณการครั้งก่อน (16 ส.ค. 64) ที่ 0.7 – 1.2% โดยเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 1.2% การส่งออก ขยายตัว 16.8% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ราว 2 แสนคน

ทั้งนี้ ได้มีการปรับองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 และการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ ดังนี้

  1. การปรับเพิ่มสมมติฐานรายรับ และจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 ตามการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาด และการดำเนินนโยบายเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ และทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะอยู่ที่ 2 แสนคน และมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวน 1.5 แสนคน และรายรับ 1.2 แสนล้านบาท ในสมมติฐานการประมาณครั้งก่อน
  2. การปรับประมาณการการขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนให้สอดคล้องกับการลดลงน้อยกว่าที่คาดในไตรมาสที่ 3 และแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 โดยมีแรงสนับสนุนจาก 1) การผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของภาครัฐเพิ่มเติม 2) การดำเนินมาตรการของภาครัฐ เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนของการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการเยียวยาและการส่งเสริมกำลังซื้อของประชาชน 3) การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสสุดท้ายของปี ทำให้คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 1.2% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 1.1% ในการประมาณการครั้งก่อน

ขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวได้ในช่วง 3.5-4.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในช่วง 0.9-1.9% การส่งออก ขยายตัว 4.9% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 5 ล้านคน คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวราว 4.4 แสนล้านบาท ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.0% ของ GDP

โดยสมมติฐานเศรษฐกิจไทยในปี 65 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในช่วง 3.5 – 4.5% มาจาก

1) การระบาดของโควิดในประเทศอยู่ในวงจำกัด ไม่เกินศักยภาพระบบสาธารณสุขที่จะบริหารจัดการได้ และไม่มีการระบาดระลอกใหม่จากไวรัสกลายพันธุ์ที่รุนแรงมากกว่าเดิม

2) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2565 ขยายตัว 4.8% และ 6.5% ตามลำดับ โดยยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2564 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศหลัก

3) ค่าเงินบาทเฉลี่ยในปี 2565 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในช่วง 32.00 – 33.00 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจาก 31.90 บาทต่อดอลลาร์ ในปี 2564 ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ

4) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 67.0 – 77.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงขึ้นเล็กน้อยจากในปี 2564 โดยปัจจัยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในปีหน้า คือ ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกและปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

5) ราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 0 – 1% และ 0.5 – 1.5% ชะลอตัวลงจากในปี 2564 สอดคล้องกับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งแนวโน้มค่าระวางเรือสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ ที่คาดว่าลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

6) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 0.44 ล้านล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.13 ล้านล้านบาท และ 2 แสนคน ในปี 2564 โดยคาดว่าแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการผ่อนคลายมาตรการในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และไม่เกิดการแพร่ระบาดจนนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น

7) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 คาดว่าอัตราการ
เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมอยู่ที่ 93.4% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด ส่วนอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ 70% ของเงินงบประมาณ และการเบิกจ่ายภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2565 ทั้งสิ้น 1.311 แสนล้านบาท ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายครบวงเงินกู้ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2565 และการใช้เงินภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 รวม 3.9 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับการเบิกจ่ายที่ดำเนินการไปแล้วในปีงบประมาณ 2564 รวม 1.1 แสนล้านบาท ส่งผลให้คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายครบวงเงินภายในปีงบประมาณ 2565

นายดนุชา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 65 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างชัดเจนต่อเนื่องจากฐานการขยายตัวที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำในปี 64 ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายและการกระจายวัคซีนมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังจะได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 65 มาจาก

1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และภาคการผลิตตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงตามลำดับ การกระจายวัคซีนครอบคลุมมากขึ้นต่อเนื่อง แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ทั้งจากการเบิกจ่ายของภาครัฐ และกรอบการใช้จ่ายภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม

2) การฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ภายใต้นโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วจาก 63 ประเทศ สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องเข้ารับการกักตัว

3) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออกสินค้า ตามภาวะเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดยการขยายตัวต่อเนื่องของกลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก อาทิ สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิดที่คลี่คลายและความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ และอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

4) การขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี งบรัฐวิสาหกิจ และกรอบการใช้จ่ายภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม ที่จะยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงตามฐานการขยายตัวที่สูงในปีก่อน

5) การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำในปี 2563 และ 2564 จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลดลง -6.1% ซึ่งเป็นการถดถอยครั้งแรกในรอบ 11 ปี ก่อนที่กลับมาขยายตัว 1.2% ในปี 2564 ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปสงค์ภายในประเทศ ยังมีข้อจำกัดจากการแพร่ระบาด ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 สามารถกลับมาขยายตัวได้ภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกสินค้า

“ในปี 65 เศรษฐกิจไทยจะมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่สำคัญ คือ ภาคการส่งออก การบริโภคในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่จะเข้ามาช่วยเสริมภาคเศรษฐกิจไทยในปีหน้า”

นายดนุชา ระบุ

อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 65 ให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ อันเป็นผลจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมทั้งข้อจำกัดจากเงื่อนไขด้านฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ขณะเดียวกัน แรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความยืดเยื้อของปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิต และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกท่ามกลางแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ดังนี้

1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ทำให้เชื้อสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงมากขึ้น จนทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด และส่งผลต่อแผนการเปิด โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นต้นทางนักท่องเที่ยวของไทยให้มีความล่าช้าออกไปกว่าที่คาด

2) เงื่อนไขด้านฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สินภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 อยู่ที่ 89.3% เทียบกับ 78.4% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ซึ่งภาระหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

3) แรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ และการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว

4) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ที่อาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย โดยต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย 1. ความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาด
ของโควิด-19 ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัส 2. การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ การปรับทิศทางในการดำเนินนโยบายการเงิน และการเปลี่ยนแปลงในตลาดพันธบัตรของประเทศเศรษฐกิจหลัก 3. ความผันผวนในตลาดการเงินโลก และเงินลงทุนระหว่างประเทศ เนื่องจากความเสี่ยงของโรคโควิด ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุน 4. ทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และจีน 5. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร

ทั้งนี้ ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2565 จึงควรให้ความสำคัญกับ

  1. การป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด
  2. การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบกลับมาฟื้นตัวได้ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว
  3. การรักษาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
  4. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า ให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิต
  5. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน และเร่งแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต
  6. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ทั้งในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการเบิกจ่ายโครงการตามพระราชกำหนดฯ เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาทในส่วนที่เหลือ ตลอดจนการขับเคลื่อน
  7. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ
  8. การติดตามและเฝ้าระวังความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะสร้างแรงกดดันและส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการดูแลเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง

“สภาพัฒน์ให้น้ำหนักกับประเด็นการควบคุมการแพร่ระบาดมากที่สุด เพราะถ้าคุมการระบาดไม่ได้ จะเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการกระจายวัคซีน การเตรียมการด้านสาธารณสุข ตลอดจนการเร่งแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs”

เลขาธิการ สภาพัฒน์กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top