ราชวิทยาลัยฯ เซ็น MOU สร้างถนนเชื่อมต่อศูนย์ราชการฯ-ประชาชื่น คาดเปิดใช้ปี 66

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกองทัพบก โดยมณฑลทหารบกที่ 11 การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมธนารักษ์ และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข 10) มูลค่าโครงการ 320 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จกลางปี 2566

สำหรับโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการฯ กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข 10) เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกองทัพบก โดยมณฑลทหารบกที่ 11 การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ และ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เพื่อรองรับการจราจรของโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการฯ และศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ส่วนขยายขนาด 400 เตียง เป็นการเพิ่มเส้นทางด้านตะวันตกของศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยปัจจุบันเส้นทางที่ใช้สัญจร มี 2 เส้นทาง คือ ทิศเหนือเป็นเส้นทางเชื่อมสู่ถนนแจ้งวัฒนะ และทางทิศตะวันออกเป็นเส้นทางถนนหมายเลข 8 มุ่งสู่ถนนวิภาวดีรังสิต

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างถนนหมายเลข 10 จะเชื่อมต่อจากศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ ไปทางด้านทิศตะวันตก บรรจบกับถนนประชาชื่น โดยคาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะ และเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปที่ใช้สัญจรไปมา รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับผู้รับบริการของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ในการใช้เป็นเส้นทางเข้ารับบริการด้านการแพทย์ ณ ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียงที่มีแผนจะเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2565 นี้ รวมถึงเพื่อการติดต่อราชการในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะด้วย

ลักษณะรูปแบบโครงการฯ จะเป็นการก่อสร้างถนน คสล. ขนาด 2 ช่องจราจร สะพานข้ามคลองประปา สะพานข้ามคลองบางตลาด มีระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบการจราจรสงเคราะห์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากถนนประชาชื่น ข้ามคลองประปา ผ่านพื้นที่ของมณฑลทหารบกที่ 11 และพื้นที่ของการประปานครหลวง ข้ามคลองบางตลาด และจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อกับถนนภายในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ระยะทางรวมทั้งโครงการประมาณ 1.30 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างมูลค่ารวม 320 ล้านบาท และมีกำหนดการก่อสร้างปลายปี 2564 คาดว่าจะแล้วเสร็จตามสัญญาพร้อมเปิดให้ประชาชนได้ใช้งานประมาณเดือนมิถุนายน ปี 2566 รวมระยะเวลา 540 วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top