กยท. คาดผลผลิตยางช่วง 2 เดือนสุดท้ายออกน้อยกว่าคาด จากสภาพอากาศแปรปรวน

น.ส.อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงสถานการณ์และราคายางว่า ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้คาดว่าผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในปีนี้เป็นปีที่มีสภาวะลานีญา ทำให้ฤดูฝนมาเร็วกว่าปกติและเป็นปีที่มีฝนมาก และในเดือน พ.ย. เกิดพายุฝนเขตร้อนซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงเดือน ธ.ค.ยังมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 10% จึงคาดว่าปริมาณผลผลิตยางที่ออกมาจริงจะน้อยกว่าที่คาด และคาดว่าผลผลิตของปี 64 มีประมาณ 4.6 ล้านตัน ลดลงประมาณ 1 แสนตัน

ด้านปริมาณการส่งออกยางมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.ย.ส่งออก 3.38 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 12.43% ขณะที่สต็อกยางทั้งของประเทศไทย และสต็อกยางจีน (ชินเต่า) มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเดือน ก.ย.ที่ผ่านมามียางเหลือในสต็อกประมาณ 4 แสนตัน จากช่วงต้นปีซึ่งมีสต็อกอยู่ประมาณ 7 แสนตัน

จากยอดผู้ฉีดวัคซีนในประเทศของผู้ใช้ยางซึ่งมากกว่า 60% ของประชากรของแต่ละประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางเริ่มฟื้นตัว เห็นได้จากตัวชี้วัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับคาดการณ์ว่าปีนี้ GDP โลกจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.9% ในส่วนประเทศผู้ใช้ยางหลัก เช่น สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 6% จีนเพิ่มขึ้น 8% ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.4% ไทยเพิ่มขึ้น 1% และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 5% และ PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ในเดือน ต.ค. ประเทศผู้ใช้ยางหลักทั้ง สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ค่าเงินบาทในระยะยาวยังมีแนวโน้มอ่อนค่า และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่ง ANRPC ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2564 ความต้องการใช้ยางจะมากกว่าการผลิต 3.29 แสนตัน กยท.จึงคาดว่าราคายางในเดือน พ.ย.ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และในเดือน ธ.ค. ซึ่งหากปลายปีปริมาณฝนลดลงอาจทำให้ผลผลิตยางมากขึ้น ราคายางย่อตัวลงเล็กน้อย

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ทิศทางของการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กยท.ในปี 2565 นั้นให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ การศึกษาเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SECri) เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมความเป็นเลิศศึกษา เขตภาคใต้ตอนกลาง เพื่อเป็นพื้นที่บริหารจัดการตั้งแต่สวนยาง โรงงานแปรรูปยาง รวมไปถึงพื้นที่สำหรับรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยาง โดยทำการศึกษาต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยาง

Rubberway เป็นการวางแนวทางในการพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืน ลดความเสี่ยงเรื่องผลผลิต รวมถึงการปรับปรุงการทำงานของเกษตรกรรายย่อยในประเทศ ให้ผลิตยางตามแนวทางที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ศึกษาเบื้องต้นที่ จ.สงขลา ร่วมกับมิชชลิน

คาร์บอนเครดิต ซึ่งยางเป็นพืชที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่การปลูกยาง แต่เป็นการจัดการสวนยาง กิจกรรมในสวนยางตามมาตรฐาน สำหรับจำหน่ายคาร์บอนเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top