สัมภาษณ์พิเศษ: “ศักดิ์สยาม” ดันสุดตัวคืนชีพ “สายเดินเรือแห่งชาติ” เพิ่มอำนาจต่อรองประเทศ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ประกาศแนวคิดฟื้นสายการเดินเรือแห่งชาติให้เห็นโครงร่างชีดเจนในปี 65 หลังมองเห็นว่าประเทศไทยไร้อำนาจการต่อรองและแข่งขันกับสายการเดินเรือของประเทศอื่น ดังนั้น รัฐบาลพร้อมจะอำนวยความสะดวก รวมถึงการให้สิทธิพิเศษเพื่อให้กองเรือไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเป็นเครื่องมือในการขนส่งสินค้าของไทยสนับสนุนการนำเข้าและส่งออกเพื่อสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

“การมีสายการเดินเรือแห่งชาติ ทำให้เรามีโอกาสขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งหากไม่มีสายการเดินเรือของตัวเอง ผู้ประกอบการก็จะพบว่าตู้ไม่เพียงพอ เราบริหารจัดการอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเรามีสายการเดินเรือบริหารจัดการเองร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราก็สามารถกำหนดโยบายเรื่องนี้ได้ เพราะตัวซัพพลายเรารู้อยู่แล้ว คุยกับผู้ประกอบการในประเทศได้ว่าจะส่งตู้คอนเทนเนอร์วันละเท่าไหร่ หรือเดือนละเท่าไหร่ ใน domestic ส่งเท่าไร Inter ส่งเท่าไหร่ ทั้งหมด อย่าไปคิดว่าจะได้ 100% เราต้องแบ่งกับผู้ประกอบการรายอื่น จะดำเนินการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำแล้ว”

นายศักดิ์สยาม กล่าว

กระทรวงคมนาคม มีแผนขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ด้วยศักยภาพด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งในจุดศูนย์กลางของอาเซียน และเป็นทางผ่านของการขนส่งระหว่างภูมิภาคเชื่อมต่อด้านตะวันตกไปยังฝั่งยุโรป แอฟริกา และเอเชียกลาง ขณะที่ในด้านตะวันออก เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก และสหรัฐอเมริกา

ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการผลิต การขนส่ง และการเชื่อมต่อภายในประเทศให้พร้อมก่อน ซึ่งรัฐบาลได้มีโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ตามนโยบายของรัฐบาล

นอกจากนั้น ยังผุดโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตสำหรับประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยจะเชื่อมโยงประเทศไทยกับเส้นทางการค้าของเอเชียและของโลก โดยโครงการนี้จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศในอนาคต

เมื่อโครงการ Land bridge เป็นประตูนำเข้าและส่งออกสินค้าจากจีนตอนใต้ เป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เช่นการเป็นทางเลือกการขนส่งน้ำมันดิบทางท่อเมื่อรับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมายังฝั่งอันดามันขึ้นที่ท่าเรือระนองและส่งผ่านท่อไปยังท่าเรือชุมพรออกมาทางด้านอ่าวไทย เพื่อขนส่งลงเรือต่อไปยังประเทศจีนที่เป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ โดยโครงการ Land bridge นี้จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกระนอง-ชุมพร และรถไฟทางคู่ เชื่อมท่าเรือ 2 ฝั่ง

จากแลนด์บริดจ์สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงนำมาสู่สายการเดินเรือแห่งชาติ

นายศักดิ์สยาม ให้สัมภาษณ์กับ”อินโฟเควสท์”ว่า แนวโน้มความต้องการด้านขนส่งมากขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ สร้างแลนด์บริดจ์เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล และสามารถเรือจอดได้เป็นแนวยาว จากนั้นยกตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นไปใช้ทางรถไฟรางคู่หรือมอเตอร์เวย์เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งไม่ให้เกิดการสะดุด

อนาคตข้างหน้าระบบโลจิสติกส์ต้องสะดวกรวดเร็วปลอดภัยและประหยัดต้นทุนค่าขนส่งมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องทำให้การเดินทางได้ตรงที่สุด สั้นที่สุด ราบที่สุด แลนด์บริดจ์จะช่วยตัดเส้นทางขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ด้วยระยะทางขนส่งที่ลดลงจากเดิม 120 กม.เหลือเพียง 83 กม. และสามารถสร้างท่าเรือน้ำลึกโดยไม่ต้องขุดลอกร่องทรายเพิ่มหากได้ร่องน้ำธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว

รมว.คมนาคม กล่าวว่า เรามองปัญหาการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งวันนี้แออัดมาก จนกระทั่งมีโครงการทำแลนด์บริดจ์ของมาเลเซียทะลุไปฝั่งอันดามัน ซึ่งมีระยะทางยาวกว่าไทย แต่แลนด์บริดจ์ที่ไทยจะสร้างจะทำให้ระยะทางใช้เวลาสั้น ช่วยประหยัดเวลาไปได้ 2 วันครึ่ง และจากที่ไทยได้ลงทุนทั้ง EEC และ แลนด์บริดจ์ จึงควรมีสายการเดินเรือที่ประเทศไทยสามารถบริหารและได้ประโยชน์ด้วย

“นโยบายของเราอยากทำสายการเดินเรือที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ หรือรถบรรทุกสิบล้อที่วิ่งจากภาคใต้ หรือมาเลเซีย ที่วิ่งผ่านกรุงเทพ ทำให้การจราจรบนถนนเพชรเกษม หรือ ถนนพระราม 2 ติดขัด ดังนั้น หากเราสามารถทำท่าเรือที่ปราณบุรี และวิ่งแพขนานยนต์วิ่งไปที่แหลมฉบัง และคลองเตย ก็จะสามารถลดการวิ่งผ่านกรุงเทพ และการขนส่งทางน้ำ จะปลอดภัยกว่าทางบก แม้ใช้เวลานานกว่า ทำให้การขนส่งปลอดภัยกว่าทางถนน”

จัดโครงสร้างแตกเป็นบริษัทย่อยตั้ง กกท.ถือหุ้นไม่เกิน 50.1% ดึงเอกชนร่วมทุน

รมว.คมนาคม บอกเล่าแผนการจัดตั้งสายการเดินเรือที่จะทำการเดินเรือไว้ 3 เส้นทางสำคัญ ได้แก่

1.เส้นทางอ่าวไทย (Domestice Line) จากสงขลา-ปราณบุรี-คลองเตย-แหลมฉบัง

2.เส้นทางเดินเรือต่างประเทศ (International Line) แบ่งเป็นฝั่งตะวันออก (East International) และฝั่งตะวันตก (West International) โดยฝั่งตะวันออกจะวิ่งไปทางทางเวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ส่วนฝั่งตะวันตก วิ่งเชื่อมจากอ่าวไทยข้ามไประนอง ก่อนเดินเรือออกสู่เส้นทางระหว่างประเทศ ไปยังตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา

สายการเดินเรือ จะแยกจัดตั้งบริษัทเป็น 3 แห่งตามเส้นทางที่แบ่งไว้ ซึ่งแต่ละบริษัทจะวิ่งบริการในเส้นทางของตัวเอง โดยให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นเรือธงในการร่วมลงทุนกับเอกชนทั้ง 3 บริษัท ซึ่งกฎระเบียบ กทท.สามารถดำเนินการได้ทั้งการร่วมทุนและทำกิจการเดินเรือ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการเดินเรือ Marine พร้อมทั้งมีแนวคิดจะเชิญชวนสายการเดินเรือระดับโลกมาร่วมทุน อย่างเช่น Maersk COSCO Evergreen เป็นต้น

ทั้งนี้ กทท.จะเข้าไปถือหุ้นในแต่ละบริษัทสัดส่วนไม่เกิน 50.1% เพื่อไม่ให้บริษัททั้ง 3 มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะเห็นแล้วว่าถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจจะมีข้อจำกัดทางกฎหมายหลายฉบับ และโครงสร้างจะใหญ่เทอะทะ ซึ่งที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจที่สามารถทำกำไรได้มีไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่ขาดทุนเพราะติดกฎหมายระเบียบมากมาย ซึ่งมองเห็นแล้วว่ามีวิธีอื่น อย่างเช่น บมจ.ปตท (PTT) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่สร้างบริษัทลูกแล้วไปลงทุนตามที่กำหนดทิศทางให้ โดยหลักการสำคัญ คือ ไม่แข่งกับเอกชน แต่จะร่วมมือกับเอกชน เพื่อสร้างสายการเดินเรือที่ติดธงชาติไทย

“วันนี้ถ้าเราไม่คิดเรื่องสายการเดินเรือแห่งชาติ Potential ที่เราจะทำให้ประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศอาจจะไม่พอ เพราะฉะนั้นวิธีคิดการร่วมมือกับเอกชนไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ต้องมีต่างประเทศด้วย แล้วการทำเรื่องนี้เราก็ต้องมองให้สมบูรณ์ ผมได้มีโอกาสคุยกับกรมเจ้าท่า ให้เตรียมบุคคลากรในเรื่องนี้ ซึ่งปัจจุบันกรมเจ้าท่าก็มีพาณิชย์นาวี แต่ถ้าเราจะทำสายการเดินเรือแห่งชาติก็ต้องเตรียมการ”

นอกเหนือ จากการเดินเรือแล้ว ก้าวต่อไปจะมีการแยกหน่วยธุรกิจออกมาเพิ่มเติม คล้ายกิจการสายการบิน อาทิ คาร์โก้ , ซ่อมบำรุง, บริการภาคพื้น ซึ่งแต่ละหน่วยธุรกิจจะมีการจัดตั้งบริษัทแยกออกไปต่างหาก ทั้งหมดนี้จะแยกการบริหารเพื่อให้แต่ละทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นจะมองไม่เห็นอะไร เหมือนกรณีของ บมจ.การบินไทย (THAI) ที่องค์กรใหญ่เกินไป

นายศักดิ์สยาม เชื่อว่าสายการเดินเรือต่างประเทศจะให้ความสนใจเข้าร่วมทุนกับเรา เพราะเส้นทางแลนด์บริดจ์เป็นเส้นทางใหม่ เป็นโอกาสของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่อาเซียน และ เอเชีย ก็ได้ประโยชน์ คาดว่าในปี 66 น่าจะมีการจัดตั้งบริษัททั้งหมดได้ให้แล้วเสร็จ และก็จะเป็นรูปแบบเช่าเรือเพื่อเดินการพาณิชย์ ไม่มีซื้อเรือ แต่เมื่อเช่าแล้วเดินเรือต้องมีกำไร ทั้งนี้ เพื่อรองรับเมื่อ ECC เปิดในปี 68 และ แลนด์บริดจ์สร้างแล้วเสร็จใปปี 70

เบื้องต้น ให้ทำการศึกษาจัดตั้งบริษัทเดินเรือเส้นทาง Domestic และบริษัทลูกได้ก่อน น่าจะเห็นการจัดตั้งบริษัทได้ในปี 65 ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งอนุกรรมการ ตามหน่วยธุรกิจราว 6-7 คณะ ซึ่งก็ต้องวิเคราะห์เรื่องนี้ให้ดี เพราะถ้าทำแล้วเกิดประโยชน์ทุกฝ่ายเรื่องนี้จะเดินหน้า *กกท.ขานรับจับมือจุฬาฯลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้

ล่าสุด กกท.พร้อมด้วยสำนักนโนบายและแผนการขนส่งและจราจร และผู้เชี่ยวชาญขนส่งทางน้ำจากสถาบันการขนส่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี-ชุมพร ศึกษาข้อมูลท่าเทียบเรือริมแม่น้ำตาปี และคลองท่าทอง/ตลาดมรกต หลังสวน (ตลาดกลางผัก และผลไม้) และ บริษัท ศิริมงคล คอร์ปอเรท กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางบก ทั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลเชิงลึก มาประกอบการพิจารณาในการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ

และได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้กับกลุ่มผู้แทนสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีประเด็นหารือกับเจ้าของสินค้าในพื้นที่ที่มีศักยภาพที่ใช้การขนส่งทางบก ให้หันมาใช้การขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าใหม่ และสินค้าที่มีปริมาณการเติบโตสูง) การตลาดเชิงรุก การอำนวยความสะดวกทางการค้า และ การจัดให้มีบริการขนส่งและโลจิสติกส์ และตู้คอนเทนเนอร์ให้เพียงพอ การให้การสนับสนุนการส่งออกหรือมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ เพื่อให้เจ้าของสินค้าปรับเปลี่ยนรูปแบบ (shift mode) การขนส่งจากถนนสู่เรือ ตามนโยบายการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติของกระทรวงคมนาคม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top