UAC ตั้งเป้ารายได้กลับไปโตใกล้เคียง 3 พันลบ.ใน 3 ปีจากรุกหนักพลังงานทดแทน

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี (65-67) รายได้จะกลับไปเติบโตใกล้เคียง 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่เคยทำได้ในปี 60 และกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโต 20% จากการก้าวไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 65 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีนี้มั่นใจจะทำได้ตามเป้าหมายที่คาดโต 15% และ EBITDA น่าจะทำได้เกินเป้าที่วางไว้ที่ 350 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 322 ล้านบาทแล้ว เนื่องด้วยคาดว่าไตรมาส 4/64 จะเติบโตต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในปีหน้า บริษัทร่วมทุน พีพีดับบลิวอี (PPWE) โดย UAC และ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) ถือหุ้นฝ่ายละ 49.98% ซึ่งดำเนินธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) จะสามารถดำเนินการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV charging station) ในเฟสแรก จำนวน 4 สถานี รวม 12 หัวจ่าย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 3-4 ล้านบาทต่อสถานี คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 15 ล้านบาท และจะผลักดันการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า 50 สถานี หรือ รวมทั้งหมด 150 หัวจ่าย ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี

นอกจากนี้ บริษัทก็อยู่ระหว่างศึกษาเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการในกลุ่มที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการบริการจัดการขยะให้ครบวงจร ซึ่ง UAC ได้เริ่มโครงการแรกที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว และปัจจุบันได้ให้บริการติดตั้งเครื่องจักรและให้เช่าเครื่องจักรบดขยะ และเครื่องคัดแยกขยะ ให้กับบริษัท เอส อาร์ ทู แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจด้านการผลิตเชื้อเพลิง RDF3 จากบ่อขยะชุมชน เพื่อส่งให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ใช้เป็นเชื้อเพลิง

บริษัทยังอยู่ระหว่างติดตามการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนทั่วประเทศ กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ ซึ่ง UAC ก็มองโอกาสในการเข้าร่วมกับพาร์ทเนอร์หลายรายเพื่อพัฒนาโครงการต่อไป

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ที่ UAC ผ่านการพิจารณาด้านราคาขั้นสุดท้าย 1 โครงการ ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ยูเอซี แอนด์ ทีพีที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยเป็นโครงการผลิตโรงไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพ มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 3 เมกะวัตต์ จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 1/65

ขณะที่คาดว่าภาครัฐน่าจะมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เฟส 2 ออกมาเพิ่มเติม ซึ่งบริษัทฯ ก็มีความพร้อมและความตั้งใจที่จะเข้าร่วมประมูลดังกล่าวด้วย

นายชัชพล กล่าวว่า ด้านอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์สะอาด ที่ได้ร่วมกับ บมจ.บางจาก (BCP) ตั้งบริษัทร่วมทุน บจ.บางจากไบโอฟูเอล (BBF) (UAC ถือหุ้น 30%) ดำเนินธุรกิจไบโอดีเซล ปีนี้ได้มีการต่อยอดไปสู่การทำโรงกลั่นกลีเซอรีนบริสุทธิ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าไลน์ผลิตภัณฑ์ของโรงงาน และอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาต่อยอด หรือทำสินค้าใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับกรีนเคมีคอลล์

บริษัทก็อยู่ระหว่างการศึกษานำ Blockchain มาทำประโยชน์ให้กับธุรกิจ ทั้งธุรกิจในรูปแบบปกติ หรือเป็นช่องทางการระดมทุน เนื่องจากที่ผ่านมาเทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มมีบทบาทมากขึ้น และภาครัฐก็มีการพยายามผลักดันภาคเอกชนนำเรื่องของการระดมทุนผ่าน Blockchain เข้ามาใช้ ซึ่งก็รอดูความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวอยู่เช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top