นักเศรษฐศาสตร์ มอง GDP ไทยกลับสู่ช่วงก่อนเกิดโควิดในปี 66 จากท่องเที่ยว

นางกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงาน SET in the City 2021 เทรนด์ชีวิต เทรนด์ลงทุน ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจ การลงทุน ความท้าทาย ในปี 2022” ว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้แล้วในปีนี้ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ และจีน เห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่เติบโตราว 6% จากปกติเติบโตราว 2% ขณะที่จีนเติบโตต่อเนื่อง 8%

อย่างไรก็ตามมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง เช่น ความสามารถในการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น และการลงทุนจากต่างชาติที่จะเข้ามามากขึ้นด้วยในปีนี้ ส่วนความเสี่ยง คือ เรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมัน หรือราคาวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งมอว่าราคาดังกล่าวจะไม่กลับลงมาสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว รวมถึงค่าระวางเรือ ที่อยู่ในระดับสูง จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

ขณะที่ต้องจับตาดูเรื่องของค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ย หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว ทำให้สหรัฐฯ จะเริ่มดำเนินการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงกลางปี 65 ส่งผลต่อค่าเงินสกุลดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น และหลังจากนั้นก็จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือในปี 66 โดยมีการประมาณการณ์ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ขณะเดียวกันทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คงจะดูว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้มากแค่ไหน และน่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในปี 66 เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้เมื่อเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลให้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง โดยคาดการณ์ค่าเงินบาทในปี 65 จะแข็งค่าขึ้นไม่มาก อยู่ที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์ และเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาคค่าเงินบาทจะอ่อนค่าที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออก แต่การนำเข้าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามคาดว่าราคาน้ำมันในปี 65 จะอยู่ที่ 72 เหรียญดอลลาร์/บาร์เรล อ่อนตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีนี้ที่อยู่ระดับ 80 เหรียญดอลลาร์/บาร์เรล

สำหรับเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยมองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) จะสามารถกลับไปสู่ระดับก่อนช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในปี 66 หรือคาดเติบโต 3.5% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่เติบโต 2.3% จะมาจากการส่งออกที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้คาดเติบโตราว 15% และปี 65 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เช่นกัน ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในประเทศยังคงฟื้นตัวได้ช้า จากโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ แต่คาดว่าการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในปี 66 ส่วนภาคการท่องเที่ยว ก็จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวหลักยังมาจากต่างประเทศ และการเดินทางไปมายังไม่ค่อยมีความสะดวก รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุด ประมาณ 30% ของไทย ก็ยังไม่กลับมาจนถึงปลายปีหน้า จากนโยบายควบคุมอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ของจีน ทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวราว 39 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% ของ GDP ได้ตั้งแต่ปี 67 เป็นต้นไป แต่การท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวได้ก่อน คาดว่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในปลายปี 65 หรือต้นปี 66

การดำเนินมาตรการการคลังของภาครัฐในปี 65 น่าจะยังคงเน้นการเยียวยาและกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านการให้เงิน ไม่ว่าจะเป็น คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, การให้เงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น ส่วนการสนับสนุนวงเงินให้กับหมู่บ้าน ชุมชน หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก SME ยังมีน้อย

นางกิริฎา กล่าวว่า หลังจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 แน่นอนว่าโลกคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ซึ่งภาพใหญ่ที่จะเข้ามากระทบต่อธุรกิจและการลงทุน ประกอบด้วย

1.สงครามเทคโนโลยีและสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐและจีน ยังคงดำเนินต่อไป และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากจะมีการกีดกันเทคโนโลยีของจีนค่อนข้างมาก ห้ามธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในการผลิตชิ้นส่วนสำหรับ Semiconductor ขายชิ้นส่วนให้โรงงานผลิตสินค้าในจีน ส่งผลให้ซัพพลายขาดตลาด เป็นต้น

2.เทคโนโลยีที่กำลังมาในอีก 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ AI, QUANTUM COMPUTING, Regenerative Medicine, Autonomous CARS, Blockchain, Cyber Security, VR, Lithium Battery, Drones, Conductive polymers ซึ่งจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จีนเป็นผู้นำอยู่ ทำให้สหรัฐฯ น่าจะยังไม่หยุดที่จะยับยั้งการขยายตัวของเทคโนโลยีจีน โดยไทยถือเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี อาจจะต้องซื้อเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศ และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามก็มีผลดีจากการที่ทั้งสองประเทศยักษ์ใหญ่ทำสงครามเทคโนโลยีกัน ทำให้บริษัทต่างๆ ที่อยู่ในจีน กำลังจะย้ายออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงเศรษฐกิจจีนก็จะเติบโตช้าลงด้วย จากนโยบายที่อยากจะให้บริษัทต่างๆ ของจีนเติบโตไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่ๆ อย่างเดียว และการขาดแคลนพลังงานด้วย ทำให้หลายๆ บริษัท หลายๆ โรงงานในจีนต้องปิดโรงงาน ส่งผลให้ซัพพลายออกมาน้อยลง จึงมีการกระจายความเสี่ยงออกจากประเทศจีนมากขึ้น หรือย้ายมายังประเทศเอเชียตะวันออกเฉลียงใต้ เช่น เวียดนาม ไทยเองก็ได้รับอานิงสงค์เป็นอันดับสอง โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนของประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่เข้ามาในธุรกิจยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น

3.Digitalization จะเร่งขึ้น ทั้ง Online Commerce/service, From-home Economy, Telemedicine

4.Digital Asset ได้รับการยอมรับมากขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น การระดมทุนในรูปดิจิทัล, สกุลเงินดิจิทัล เป็นต้น

5.De-Carbonization จะเปลี่ยนรูปแบบการผลิต ซึ่งในโลกอนาคต โดยเฉพาะโลกตะวันตกต้องการที่จะให้โลกมีการปล่อยคาร์บอนลดลง จากความต้องการสินค้าชีวภาพในโลกเพิ่มขึ้น

6.เทรนด์ของ ESG ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น

7.สัดส่วนของประชากรสูงวัยในโลกเพิ่มขึ้น โดยไทยเองก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยในปี 65 อย่างเต็มรูปแบบ หรือมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 20% ของประชากรของประเทศ และยังมีอีกหลายประเทศในโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้เป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะปรับสินค้าและบริการของไทยให้เข้ากับเทรนด์ดังกล่าว ขณะที่ภาครัฐเองก็น่าจะเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการในสภาวะที่จะมีแรงงานน้อยลง

8.ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และจะตามมาด้วยความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้น

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคราวนี้ไม่เหมือนทุกคราว จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมก็ฟื้นตัวเกินกว่าช่วงเกิดโควิด-19 แล้ว เช่น ภาคเทคโนโลยี ภาคเกษตร ภาคอาหาร จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ SET Index เติบโตขึ้นแล้ว 7% จากปีที่ผ่านมา

ขณะที่ความท้าทายของตลาดทุนไทยในปี 65 และจากนี้ไปการปรับตัวของภาคธุรกิจและโอกาสธุรกิจใหม่ๆ อาจปรับโฉมของตลาดทุนไทยในอนาคต โดยปัจจุบันสัดส่วนตามมูลค่าตลาดในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่คิดเป็น 26% มาจากภาคบริการ รองลงมา คือ ทรัพยากร คิดเป็น 23%, อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 14%, การเงินและประกันภัย 13%, เทคโนโลยี 11%, ที่เหลือมาจากอุตสาหกรรมอาหาร และอื่นๆ ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 19 ล้านล้านบาท ขณะที่ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 74 ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูว่าจะมีธุรกิจใดเติบโตขึ้น และมีบทบาทในการขับเคลื่อนมูลค่าตลาดอย่างไร

ปัจจุบันเริ่มเห็นธุรกิจ Digital Assets เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง ตลท.ก็อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะมีการเติบโตไปกับ Digital Assets อย่างไร ทั้งการเติบโตในธุรกิจรูปแบบเดิม และดิจิทัล รวมถึงจะมีการ Overlap กันอย่างไรได้บ้าง

นายพิพัฒน์ เหลือนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า หลังจากโลกได้ผ่านจุดเลวร้าย จากวิกฤติโควิด-19 ไปแล้ว เมื่อมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างสหรัฐฯ มีการเติบโตขึ้น จากปีก่อน ที่ติดลบราว 3.4% โดยในปี 65 ก็คาดจะเห็นการฟื้นตัวที่ดีต่อเนื่องได้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่ยังฉีดวัคซีนได้ไม่ทั่วถึงก็ยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ รวมถึงเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น ก็เริ่มเห็นอุปทานตึงตัวจากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น และประเด็นของเงินเฟ้อในหลายประเทศที่ฟื้นตัวได้เร็ว อย่างสหรัฐ 6% และยุโรป 3-4%

สำหรับประเด็นต่อเศรษฐกิจไทยในปี 63 GDP ติดลบ 6% และในปีนี้คาดจะฟื้นตัวขึ้นได้ราว 1-2% ซึ่งยังเติบโตน้อยมากหลังหดตัวลงไปในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปีนี้ หลังฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างเร็วและเจอโควิด-19 อีกครั้งในไตรมาส 3/64 อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยรอบนี้อาจจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่ โดยคาดว่า GDP ปี 65 จะโตได้ 3.5-4% ซึ่งเมื่อรวมสองปีก็ยังไม่เท่ากับการหดตัวไปในปี 62 อาจจะต้องรอจนถึงปี 66 เป็นต้นไป

ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประมาณการเศรษฐกิจไทย คือ การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คิดเป็น 12% ของ GDP ไทยจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่ การควบคุมการระบาดภายในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อัตราเงินเฟ้อโลก ค่าครองชีพ และกำไรของธุรกิจ และอัตราดอกเบี้ยกำลังจะเป็นขาขึ้น หลังจากเป็นขาลงมาโดยตลอด โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย จะเจอกับความท้าทายจากวงจรเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับประเทศใหญ่ เศรษฐกิจเพิ่งกำลังจะฟื้นตัว แต่กำลังเจอแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ปรับสูงขึ้น ผลต่อต้นทุนการกู้ยืมเงิน และงบดุลของบริษัท และ Valuation ของการลงทุน

“ปัจจัยที่จะมีผลต่อการลงทุนที่สำคัญในปี 65 จะมีด้วยกัน 6 เรื่อง ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ เงินเฟ้อ และผลกระทบต่อกำไร (margin) แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น เทรนด์สิ่งแวดล้อม ที่จะมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี และการลงทุนต่างประเทศ” นายพิพัฒน์ กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top