โบรกฯมอง SET เผชิญความไม่แน่นอน คาดเฟดเร่งลด QE-“โอไมครอน”ดับหวังฟื้น

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวในการเสวนา”หุ้นไทยโค้งสุดท้ายปี 2564″ ว่า ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงที่มีความไม่แน่นอนหลักๆ 2 เรื่อง เรื่องแรก เป็นนโยบายการเงินของสหรัฐอยู่ในจุดเปลี่ยนเร็วขึ้น โดยก่อนวันศุกร์ที่ผ่านา (26 พ.ย.) ภาพเงินเฟ้อของสหรัฐเร่งตัวขึ้นมาและสัญญาณเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขค้าปลีก ตัวเลขอสังหาริมทรัพย์ เป็นการส่งสัญญาณแบบเร่งตัว ทำให้ตลาดมีการคาดการณ์ว่าการลดวงเงิน QE จะเร่งตัวมากขึ้นจากลดลง 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน เพิ่มเป็น 3 ล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน เท่ากับโครงการเสริมสภาพคล่องของสหรัฐจะจบลงในเดือน มี.ค.65 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่คาดจบในเดือน มิ.ย.65 ก็ทำให้ภาพดอกเบี้ยขาขึ้นก็มาเร็วขึ้นด้วย เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ(Bond Yield) สูงขึ้น จึงคาดว่าดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้นในเดือนมิ.ย.- ก.ค. 65

อีกเรื่อง คือ การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ และการพบสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่องค์การอนามัยโลก (WTO) ประกาศว่าเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 ตัวใหม่ กดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจนเกิดภาพ Black Friday เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว และมีผลกระทบต่อเนื่องมาวันนี้ เนื่องจากตลาดไม่แน่ใจว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะแพร่กระจายหรือเร่งตัวมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ ไวรัสโควิด “โอไมครอน” มาจากแอฟริกา โดยชาวอังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่คาดหวังเศรษฐกิจฟื้นตัวมีโอกาสแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์นี้ ซึ่งไทยคาดหวังการท่องเที่ยวมาฟื้นเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ไวรัสโควิดยังระบาด ขณะที่นักท่องเที่ยวจากจีนคงยังไม่มาเร็วแน่ๆ อาจจะไปไกลถึงเดือน พ.ย.65 เมื่อเกิดการระบาดครั้งนี้ก็ทำให้ภาพการท่องเที่ยวฟื้นอาจล่าช้าออกไป ทำให้ตลาดผันผวน

นายกรภัทร มองเป็นจังหวะการเข้าลงทุน รอคอยการฟื้นตัวอุตสาหรรมการท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ก็ต้องเลือกการลงทุนกลุ่มไหน จึงแนะนำหุ้นภาคบริการขึ้นมาเร็วอาจมีความเสี่ยง ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนกระแสเอเชียและโลก ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี (กลุ่มไอซีที ADVANC INTUCH ) กลุ่ม Digital Transformation (แบงก์ SCB KBANK) มีความเชื่อมโยง 5G , EV นอกจากนี้ กลุ่มโรงไฟฟ้า และแต่ละบริษัทปรับตัวเข้าเทคโนโลยี เช่น GULF, GPSC ส่วนกลุ่ม Domestic Play ก็รอจังหวะ

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสนักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่าตลาดโค้งสุดท้ายปีนี้จะลักษณะซึมๆ ตอบรับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี 64 ดัชนี SET ปรับขึ้นไป 10% แล้ว แต่ไม่ผ่านระดับ 1,660 จุด ซึ่งขึ้นทดสอบมาแล้ว 3 ครั้ง ใกล้เคียงกับดัชนีที่เราคาดไว้ที่ 1,660 จุด P/E 20 เท่า แสดงว่าตลาดตอบรับเชิงบวกกับความคาดหวังเศรษฐกิจ ขณะที่ต่างประเทศมีสัญญาณเชิงบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ท้ายสุดไวรัสโควิดก็มีการกลายพันธุ์ใหม่ ก็มีการตอบรับเชิงลบ แต่เชื่อว่าจะตอบรับเชิงลบน้อยลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี ความความหวังต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่มีตลาดก็จำเป็นต้องถอยก่อน นักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศมีสัดส่วนถือมาก แต่สถานการณ์ที่ยังไม่รู้ก็ต้องขายออกมาก่อน นักลงทุนต่างประเทศขายทิ้งมาเมื่อวันศุกร์และต่อเนื่องมาวันนี้ ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศลดน้ำหนักไม่ทันก็ต้องขายก่อน มองสถานการณ์ค่อยๆตั้งรับ น้ำเชี่ยวก็ไม่ต้องรีบ

กลุ่มโรงพยาบาล ได้ประโยชน์ความเสี่ยงจากโควิด อาทิ BCH, CHG เก็งกำไรระยะสั้นได้ เพราะฐานราคาหุ้นกลุ่ม รพ.ขนาดกลางสูงมาก สำหรับ ENERGY ต้นน้ำเริ่มชะลอตัวหลังราคาน้ำมันปรับลงแต่ก็ปรับไม่มาก กลุ่มโรงกลั่นปีหน้าเก็งกำไรการใช้น้ำมันอากาศยาน ส่วนกลุ่มปิโตรเคมี มองว่าสเปรดเริ่มกลับมาได้บ้าง เช่น IVL

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักวิเคราะห์กลยุทธ์อาวุโส บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 เป็นเงื่อนไขใหม่ โดยที่ผ่านมาก็เห็นว่าไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าสายพันธุ์เดลตา ขณะที่เรามีวัคซีน mRNA ก็วางใจพอสมควร และแม้เปิดประเทศ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดก็ทรงตัวมาเรื่อยๆ แต่ในยุโรปตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตามจำนวนผู้เสียชีวิตห่างจากจุดสูงสุดมาก ทั้งนี้ มองว่าโอกาสกลับไปล็อกดาวน์ยาก แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่รู้ว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ร้ายแรงกว่าเดลตาหรือไม่

ตลาดหุ้นบ้านเรา มีนักลงทุนในประเทศขับเคลื่อนมาทำให้มาได้ถึงตอนนี้ได้ และเมื่อเม็ดเงินในประเทศเริ่มตึงตัว ก็มีเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามา โดยต่างชาติซื้อสุทธิมาตั้งแต่เดือน ส.ค.-พ.ย.64 แต่เมื่อวันศุกร์ขายออกมา ถึงปัจจุนันต่างชาติเปลี่ยนเป็นขายสุทธิ โดยต่างชาติซื้อหุ้นไทยหลักๆ 3 ช่วง คือ หลังเลือกตั้งปี 63 ซื้อสุทธิ 7 หมื่นล้านบาท, ปลายปี 63 ซื้อสุทธิ 4 หมื่นล้านบาท และช่วง ส.ค.- พ.ย.64

บ้านเราแม้ไม่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอน แต่คนต่างชาติที่คาดหวังจะเข้ามาท่องเที่ยว อย่าง อังกฤษ เยอรมัน สหรัฐ พบว่าติดเชื้อโควิดโอไมครอน ก็จะทำให้การท่องเที่ยวมาช้าลงกว่าที่คาดไว้ และทำให้โอกาสเห็นตลาดหุ้นไปแตะ 1,700 จุดช้าออกไปด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยต่างประเทศ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประชุม 14-15 ธ.ค.ซึ่งต้องติดตามเพิ่มอัตราเร่งการลดวงเงิน QE หรือไม่ หากเพิ่มก็จะเป็นแรงกระแทกตลาด โดยมอง downside หรือแนวรับรอบนี้ที่ 1,570 -1,590 จุด

ปีหน้ามองว่ากลุ่มส่งออกคาดหวังยากขึ้น เว้นแต่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังมีความต้องการมาก แนะนำ SAT AH KCE HANA SMT

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top