เงินบาทเปิด 33.65 แข็งค่าจากวานนี้ตามภูมิภาค หลังตลาดคลายกังวลโควิดโอไมครอน

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 33.65 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 33.77 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยที่เมื่อคืนนี้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน เนื่องจากอยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติม ส่งผลให้วันนี้นักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง แต่ก็มีจำนวนไม่มากเท่ากับที่ขายเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ประกอบกับเมื่อคืนนี้สหรัฐฯ ประกาศว่าจะยังไม่มีล็อกดาวน์ ตลาดจึงจับตาดูข้อมูลทางการแพทย์ของไวรัสตัวใหม่ และประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่เป็นส่วนใหญ่

“ตลาดภูมิภาคแข็งค่า จากเมื่อคืนนี้ที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวได้บ้าง ส่งผลให้สกุลเงินของตลาดเกิดใหม่ ล้อไปตามสินทรัพย์เสี่ยง”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.55 – 33.75 บาท/ดอลลาร์ โดยวันนี้ปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม คือ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากช่วง 3 วันที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิในตลาดพันธบัตรจำนวนมาก โดยเมื่อวานนี้ขายถึง 16,000 ล้านบาท

THAI BAHT FIX 3M (29 พ.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.10234% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.20574%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 113.73 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ระดับ 113.32 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1292 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1274 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.746 บาท/ดอลลาร์
  • “อาคม” การันตีปี 65 จีดีพีที่ 4% ไม่ไกลเกินเอื้อม ปักหมุดอัดฉีดงบกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 ล้านล้านบาท เดินหน้าเข็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เล็งกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ-ค้าชายแดน
  • “สคร.” โชว์รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนสะสมปี 2564 พุ่ง 2.69 แสนล้านบาท คลังกำชับปีงบประมาณ 2565 เร่งรัดเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า 95% อวดไตรมาสแรกเดินเครื่องใช้เงินแล้ว 3.22 พันล้านบาท หวังช่วยหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังซมพิษโควิด-19
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. กำลังติดตามสถานการณ์ไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโอไมครอนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากมีการแพร่ระบาดรุนแรงจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยอีกครั้งได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญจึงต้องการให้ภาครัฐ ได้ประชาสัมพันธ์ถึงข้อมูลข่าวสารของไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวให้ชัดเจนอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ทุกภาคส่วนได้มีการเตรียมพร้อมในการรับมือ รวมไปถึงภาครัฐที่จำเป็นต้องวางมาตรการดูแล และป้องกันเพื่อลดผลกระทบไว้ด้วย
  • “พิพัฒน์” หารือเอกชนท่องเที่ยว ดันขายแอลกอฮอล์ในร้านอาหารของพื้นที่สีฟ้า 11.00-24.00 น. ไม่ต้องเว้น 3 ชั่วโมง ช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ททท.ยังไม่พบสัญญาณชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ขอประเมิน 2-3 วันว่าสายพันธุ์โอมิครอนส่งผลกระทบหรือไม่ คาดตลอดทั้งปีนี้ได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 แสนคน
  • สศช.เผยรัฐบาลเตรียม 5 มาตรการรับมือ “โอไมครอน” ปรับแผนรับคนเข้าประเทศ เจรจาสัญญาวัคซีน เตรียมยา จัดแผนป้องกันฐานการผลิต ศบศ.ถกฟื้นเศรษฐกิจ 3 ธ.ค.นี้ เคาะวีซ่าระยะยาวดึงท่องเที่ยว กลุ่มรายได้สูง ธปท.หวั่นสายพันธุ์ใหม่ฉุด จีดีพีปี 65 “คลัง” พร้อมโยกงบฟื้นฟูมาเยียวยา “อาคม” เดินหน้าลงทุนดันจีดีพีโต 4.5%
  • สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) รายงานว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย(pending home sales) พุ่งขึ้น 7.5% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 พ.ย.) เนื่องจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเริ่มลดน้อยลง ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (29 พ.ย.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังจากตลาดหุ้นสหรัฐดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
  • รัฐมนตรีสาธารณสุขจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 ได้เสร็จสิ้นการประชุมทางไกลวานนี้ โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันในความร่วมมือสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
  • ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐไม่มีนโยบายที่จะประกาศล็อกดาวน์เศรษฐกิจ อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
  • ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนก.ย.จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.จาก Conference Board, ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ย.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนพ.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ(ISM), การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนต.ค. , จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนพ.ย.จากมาร์กิต, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนต.ค. และดัชนีภาคบริการเดือนพ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top