CHO คาดปี 65 เทิร์นอะราวด์ เพิ่มฐานรายได้ประจำ-ออกผลิตภัณฑ์ใหม่, วางโรดแมพปรับแผนธุรกิจ

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ช ทวี (CHO) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ (เทิร์นอะราวด์) ได้ในปี 65 จากการปรับลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มฐานรายได้ประจำ, สร้างสมดุลระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย และการออกสินค้าใหม่

ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ในปี 65 จะเติบโตดีกว่าปีนี้ โดยยังมาจากธุรกิจที่มีรายได้ประจำ ไม่ว่าจะเป็นบริการซ่อมบำรุงรถโดยสาร NGV จำนวน 489 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), บริการซ่อมบำรุงรถยนต์นั่ง รถโดยสารไฟฟ้าในเครือ SCG, บริการซ่อมบำรุงรักษารถ London Taxi ของเอเชีย แค็ป จำนวน 400 คัน, ศูนย์ซ่อมรถบรรทุก 10 ล้อ 24 ชั่วโมง จำนวน 5 แห่ง (ชลบุรี,สุราษฎร์,วังน้อย,บางบัวทอง,ขอนแก่น), ศูนย์ซ่อมบำรุงรถบรรทุก Tesco Lotus รวม 6 DC, บริการรถโดยสารรับส่งบุคคลากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเครือ SCG และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงขยายธุรกิจบริการรถขนส่งมวลชนสาธารณะ (Smart Bus) ในจ.ชลบุรี

ณ วันนี้ 30 ต.ค.64 บริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) ของธุรกิจที่มีรายได้ประจำ อยู่ที่ 1,700 ล้านบาท ขณะที่ในปี 65-66 จะมีรายได้ประจำเข้ามาเพิ่ม 2 โครงการ ได้แก่ การให้บริการศูนย์ซ่อมรถบรรทุก 10 ล้อ 24 ชั่วโมง กับกลุ่มลุกค้ารถบรรทุกในจ.สุราษฎร์ฯ มูลค่ารวม 60 ล้านบาท และโครงการเกษตรอินทรีย์อัจฉริยะ สร้างงาน สร้างอาชีพ (Khon Kaen Smart Farm) มูลค่ารวม 72 ล้านบาท ก็จะเข้ามาหนุนรายได้ประจำให้เติบโตขึ้น

นอกจากนี้ปัจจุบันบริษัทฯ ยังมีงานตามสัญญา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สนับสนุนภาคพื้นสนามบิน ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโควิด-12 โดยตรง, ผลิตภัณฑ์มาตรฐาน และงานซ่อมปืนใหญ่ให้กองทัพบก จำนวน 22 กระบอก ปี 63 ส่งมอบแล้ว 13 กระบอก และอีก 9 กระบอกจะส่งมอบภายในต้นไตรมาส 1/65

อีกทั้งก็อยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อจำหน่ายในปี 65 เช่น การพัฒนารถ London Taxi ให้เป็นระบบไฟฟ้า (EV) คาดว่าจะเริ่มออกมาได้ในช่วงปลายปีหน้า และพัฒนารถบัสโดยสารไฟฟ้าขนาด 8 เมตร ส่วนความร่วมมือพัฒนาระบบบริหารโครงการ ขณะนี้มีโครงการต่อเรือตรวจการไกลฝั่ง จำนวน 6 ลำ ของกองทัพเรือฟิลิปปินส์, โครงการความร่วมมือวิจัยและพัฒนาสินค้าในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (DTI-CHO), โครงการเพื่อพัฒนาระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero emissions)

บริษัทฯ ยังมีแผนออกหุ้นกู้ เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดในปี 65 ที่มีวงเงินราว 545 ล้านบาท

นายสุรเดช กล่าวว่า บริษัทฯ ได้มีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจใหม่ ภายใต้ Road Map Strategic Plan CHO 2023 (ปี 73) มุ่งสู่การเป็นบริษัท Tech Riders 2030 โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น

  • ปี 65-67 ปีของ Current Group ที่ยังมุ่งเน้นในเรื่องของการใช้บริการศูนย์ซ่อมครบวงจร 24 ชั่วโมง “สิบล้อ 24”, อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defense Industry), การจัดการเดินรถโดยสารแบบครบวงจร (Bus Operation), รถและอุปกรณ์บริการในสนามบิน (Ground Support Equipment)
  • ปี 68-70 จะเป็นปีของ New Group เน้นในเรื่องของการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City 7 Group), อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับอนาคต (EV), อุตสาหกรรมระบบราง (Light Rail Transit), การจัดการระบบ Back End โดยใช้เทคโนโลยี
  • ปี 71-73 ปีของ Future Group จะเน้นเรื่องธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน (FINTECH), ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ (EV Autonomous) และธุรกิจเทคโนโลยีโลกเสมือน (Metaverse)

ส่วนความคืบหน้าของการระดมทุนในรูปแบบ SPAC ในเดือนธ.ค.นี้ บริษัทฯ เตรียมนำบริษัท AROGO Capital Acquisition Corporation (AROGO) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Koo Dom Investment Limited Liability Company ผู้ดำเนินธุรกิจโดยสนับสนุนด้านเงินลงทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ แก่บริษัท SPAC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CHO ถือหุ้น 100% ใน AROGO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ สหรัฐอเมริกา และใช้ชื่อย่อว่า “AOGO” ภายหลังประสบความสำเร็จในการระดมทุนในรูปแบบ SPAC กว่า 100 ล้านเหรีญสหรัฐฯ เกินกว่าแผนการระดมทุนที่กำหนดไว้ที่ 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อนึ่ง SPAC ย่อมาจาก Special Purpose Acquisition Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีการประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะระดมทุนจากผู้ลงทุนและนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปซื้อกิจการอื่นที่ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (private company) เพื่อนำมาเป็นธุรกิจหลักของบริษัท SPAC

ทั้งนี้บริษัทฯ ก็จะนำเงินที่ได้ไปซื้อกิจการเทคโนโลยี และสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น ตามวัตถุประสงค์ของการระดมทุน โดย CHO ในฐานะผู้สนับสนุนเงินลงทุนค่าใช้จ่ายฯ (สปอนเซอร์) จะได้รับประโยชน์จากการเข้าซื้อกิจการ โดยได้รับผลตอบแทนเป็นหุ้น 20% และจะสามารถจำหน่ายหุ้นที่ได้รับมานั้นออกได้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ หรือจะพ้นระยะเวลาห้ามขายหุ้น (ไซเลนต์ พีเรียด) ได้หลัง 6 เดือน ทำให้คาดว่าบริษัทฯ จะได้รับเงิสดเข้ามา และบันทึกเป็นกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในสหรัฐฯ ได้ในช่วงปลายปี 65

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top