รมว.คลัง ยันเม็ดเงินดูแลศก.ปีหน้ามีเพียงพอ มุ่งฟื้นเติบโตอย่างมีศักยภาพ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน Bangkok Post International Forum 2021 หัวข้อ “Unleashing The Future : A Glimpse into 2022 and Beyond” ว่า ในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวได้ราว 1% ซึ่งถือเป็นระดับที่สมเหตุสมผล ส่วนไตรมาส 4 มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว และมีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่หดตัว -0.3% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ช่วยสนับสนุนอำนาจการซื้อ และลดภาระความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ผ่านโครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น

รวมทั้งยังมีมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ผ่านมาตรการลดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน ขณะที่การเปิดประเทศยังช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ซึ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้

“ที่ต้องติดตาม คือความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น รวมถึงความเสี่ยงการจากแพร่ระบาดของโอไมครอน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยมีประสบการณ์จากอดีต ก็เชื่อว่าจะสามารถนำมาปรับใช้ และช่วยลดผลกระทบ รวมถึงป้องกันสถานการณ์การแพร่ระบาดได้” รมว.คลัง กล่าว

ส่วนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องวางแนวทางการป้องกันให้ชัดเจน ส่วนหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ก็ต้องทำให้การแพร่ระบาดไม่ส่งผลกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจึงต้องมีความชัดเจน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับการจำกัดการแพร่ระบาด และปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาให้เข้มข้นมากขึ้น

“มาตรการที่จะทำ ต้องคู่ขนานกันระหว่างมาตรการดูแลเศรษฐกิจ และมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จากสถานการณ์ขณะนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัว และให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาด และฉีดวัคซีน” นายอาคม กล่าว

รมว.คลัง ระบุว่า แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ แต่ก็ไม่อยากให้กังวลเรื่องของเม็ดเงินที่ใช้ในการดูแลเศรษฐกิจปี 2565 โดยจะมีเม็ดเงินจากงบประมาณปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบลงทุน 6 แสนล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 3 แสนล้านบาท ขณะที่เงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงินโควิดเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท ยังเหลือเม็ดเงินอีก 2.5 แสนล้านบาท รวมกว่า 1 ล้านล้านบาทที่เตรียมจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีหน้า โดยในส่วนเม็ดเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินโควิดเพิ่มเติมนั้น แม้ว่าจะเป็นงบที่เตรียมไว้ใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่หากมีการแพร่ระบาดรอบใหม่ ก็สามารถโยกเม็ดเงินมาใช้ในการเยียวยาได้

ส่วนข้อเสนอภาคเอกชนที่ให้ฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปีใหม่นั้น รมว.คลัง กล่าวเพียงว่า “ขอให้ใจเย็น ๆ”

พร้อมระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้กลับมาเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยต้องมีมาตรการที่ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างทั่วถึง กระจายไปยังทั่วประเทศ ผลักดันการเติบโตทั้งในระยะสั้น และเตรียมพร้อมเพื่อส่งเสริมการเติบโตในระยะยาว โดยรัฐบาลจะเน้น 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ โดยการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งนโยบายที่สำคัญ คือการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยในช่วงต้นปี 65 จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวออกมา
  2. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เน้นลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมใหม่ ผ่านโครงการ EEC เพื่อส่งเสริมศักยภาพของไทย ลดการพึ่งอุตสาหกรรมเก่า
  3. การเปลี่ยนเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น โครงการ 5G เพื่อรองรับการเติบโตด้านดิจิทัล
  4. การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป
  5. การส่งเสริมตลาดทุน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับการลงทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น โดยขณะนี้ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลให้การลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามกฎ ระเบียบระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของไทย

รมว.คลัง ยืนยันว่าปัจจุบันสถานะทางการคลังของประเทศมีความมั่นคง โดยรัฐบาลยังมีความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินเพื่อสนับสนุนประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงส่งเสริมให้มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมีศักยภาพ ผ่านการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่สำคัญ โดยการบริหารจัดการด้านการเงินของรัฐบาลยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง และเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยในเดือน ต.ค.64 สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 58.8% ของ GDP ยังไม่เกินกรอบเพดานวินัยการคลังที่ 70% ของ GDP

“คลัง และแบงก์ชาติจะทำงานร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายการเงินและการคลัง จะทำให้เกิดภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการนำนโยบายการเงินและการคลังมาปฏิบัติ จะต้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจไทย และเอื้อต่อการฟื้นตัวที่เข้มแข็ง โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเตรียมเศรษฐกิจสำหรับโลกหลังโควิด-19 เรื่องนี้รัฐบาลไม่สามารถทำได้ลำพัง ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน โดยเฉพาะภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลจะยังสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วม และเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกส่วนทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน” นายอาคม กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top