TPCH เล็ง COD 2 โครงการรวม 6 MW-ศึกษาโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 4-6 แห่งหนุนรายได้ปี 65 โต

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) กล่าวว่า บริษัทฯ คาดรายได้ปี 65 จะเติบโตกว่าปีนี้ เนื่องจากมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) อีก 2 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 6 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน จ.ปัตตานี กำลังการผลิตติดตั้ง 3 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา จ.ยะลา กำลังการผลิตติดตั้ง 3 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะ COD ได้ในไตรมาส 1/65

อีกทั้งจะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปี ของโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกของบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถ COD ได้ในไตรมาส 4/64 ตามแผน โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ อยู่ระหว่างการทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้า และเมื่อโรงไฟฟ้าขยะฯ สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ ก็จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเป็น 116.3 เมกะวัตต์ จากเดิม 106.8 เมกะวัตต์

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวลที่ COD ไปแล้ว จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2 และยังมีโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลานและโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีแผนกำหนด COD ในปีหน้า เชื่อว่าโครงการทั้งหมด จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ผลงานของบริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคง

บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษา และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติม อีกประมาณ 4-6 แห่ง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาอัตราผลตอบแทนในการลงทุนของแต่ละโครงการ เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนในระยะยาว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 65 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 250 เมกะวัตต์ภายในปี 66 แบ่งออกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล และชีวภาพ ขนาด 200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 50 เมกะวัตต์

พร้อมกันนี้การที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 65 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) และสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10- 50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี จะส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์

อย่างไรก็ตาม อัตรารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ยังต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงจะได้ข้อสรุปอีกครั้ง

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้แนวทางการดำเนินงานในอนาคต บริษัทฯ จะมองไปที่ BCG Model หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ ( Bioeconomy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติของภาครัฐ โดย BCG Model จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ที่ 4.3 ล้านล้านบาท บริษัทฯ ก็มีแนวทางที่จะเข้าไปสู่โมเดลดังกล่าวด้วย โดยอยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อต่อยอดจากโรงไฟฟ้าชุมชนฯ หลังไม่ผ่านการคัดเลือกการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ทุกโครงการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top