“ศักดิ์สยาม”เร่ง ขสมก.จัดหารถเมล์ไฟฟ้ากว่า 400 คันหลังไม่พอให้บริการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ แผนฟื้นฟู องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ปัจจุบัน ขสมก. ประสบปัญหาการขาดแคลนรถโดยสารให้บริการ ดังนั้น ได้ให้ขสมก.เร่งศึกษาแผนจัดหารถโดยสารปรับอากาศ ที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือรถโดยสารไฟฟ้า(EV) และใช้วิธีการจ้างวิ่งตามระยะทาง ซึ่งเป็นไปตามที่ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการจัดหารถไว้ อีกทั้งไม่ถือเป็นการลงทุนเนื่องจากการจ้างวิ่งตามระยะทางนั้น เป็นการนำรายได้มาจ่ายค่าจ้างวิ่ง

ทั้งนี้ ได้มีการรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อต้นปี 2564 แล้ว ในเรื่องแผนการจัดหารถโดยสารปรับอากาศรวมถึงปัญหาจำนวนรถที่ไม่เพียงต่อการให้บริการ ใน 90 เส้นทางประมาณ 400 กว่าคัน ซึ่งหากขสมก.ไม่มีรถวิ่งจะต้องคืนให้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ซึ่งเบื้องต้นขสมก.ได้นำเสนอแผนจัดหารถ EV โดยได้ให้ไปทำรายละเอียดให้ชัดเจนทั้งจำนวนและเส้นทางและรูปแบบการจ้างวิ่งตามระยะทาง

“เมื่อแผนฟื้นฟูขสมก.ยังไม่จบ ดังนั้นเรื่องที่อยู่ทั้งในแผนฟื้นฟูที่ครม.อนุมัติไว้เมื่อปี 2562 กับแผนที่กระทรวงคมนาคมเสนอปี 2563 ขสมก.สามารถดำเนินการได้ก่อน เช่น เกษียณก่อนอายุ การจัดหารถใหม่ ส่วนที่ยังทำไม่ได้ เช่น เรื่องอัตราค่าโดยสาร 30 บาทตลอดสายต่อวัน เพราะเป็นข้อเสนอใหม่ ยังไม่ได้อยู่ในแผนปี2562”

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ปัจจุบันรถขสมก.มีสภาพเก่าชำรุดจำนวนมาก จะต้องเร่งจัดหาเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการที่มีคุณภาพชีวิตมากขึ้น และพยายามเลิกใช้รถร้อน เปลี่ยนมาเป็นรถปรับอากาศ คาดว่าภายในไตรมาส 2/2565

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ปัญหาขสมก.คือรถไม่พอบริการ จากหลายปัจจัย ทั้ง สภาพรถเก่าชำรุด ขณะที่รถที่บริการเดินรถเชิงคุณภาพ (Performance Base Contract) หรือ PBC หมดสัญญา 10 ปี ไปแล้วจำนวน 117 คันนอกจากนี้ รถปรับอากาศ NGV จำนวน 489 คัน สามารถวิ่งให้บริการได้ประมาณ 300 คัน/วันเท่านั้น เนื่องจาก มีปัญหาอัตราการเสียสูง ขณะที่ การให้บริการในปัจจุบันภายใต้สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีมาตรการ เว้นระยะห่าง ไม่ให้ผู้โดยสารหนาแน่น ช่วงโควิดระบาดมากๆ ผู้โดยสาร 1-2 แสนคนต่อวัน แต่ปัจจุบันการเดินทางกลับมาเป็น 6 แสนกว่าคน/วันแล้ว ขสมก.ต้องเพิ่มความถี่ในการเดินรถ

ทั้งนี้ หากรอการจัดหารถโดยสารใหม่ทั้งหมดตามแผนฟื้นฟู ก็ต้องรอให้แผนได้รับอนุมัติทั้งหมดก่อน ซึ่งในการให้บริการประชาชนไม่สามารถรอได้ ดังนั้น ขสมก.จึงมีการทำแผนระยะสั้น ในจัดหารถโดยสารใหม่ โดยให้เวลาขสมก.ไปดำเนินการและสรุปรายละเอียดภายใน 2 เดือนนี้ ว่า มีเส้นทางไหนที่มีความต้องการ แต่จำนวนรถยังน้อย หรือในชั่วโมงเร่งด่วน สายไหนผู้โดยสารแน่น เป็นการจ้างวิ่งตามระยะทาง ซึ่งจะจัดหาได้เร็วและนำรถเข้ามาเติมเส้นทางที่ขาดแคลนและมีความต้องการจริงๆ เป็นเส้นทางที่จะมีรายรับที่มากพอจะนำมาจ่ายค่าจ้างวิ่งได้ ทำให้ขสมก.ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่ต้องกู้เงิน เพราะนำรายได้ในเส้นทางนั้นๆ มาจ่ายค่าจ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม   ขสมก.ยังประสบปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีจำนวน 1.27  แสนล้านบาท ปี 2563 มีหนี้เพิ่ม เป็น 1.32 แสนล้านบาท  ปัจจุบัน หนี้เพิ่มเป็น 1.4 แสนล้านบาท แล้ว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top