ส.กุ้งไทย คาดผลผลิตปี 65 โต 4% มาที่ 3 แสนตันจาก 2.8 แสนตันปีนี้

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 64 ผ่านทางการประชุมออนไลน์ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 64 โดยรวมอยู่ที่ 280,000 ตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 63 อยู่ที่ 270,000 ตัน คาดปี 65 ผลิตได้ 300,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 4%

“การผลิตกุ้งของไทยปีนี้ คาดจะผลิตได้ 280,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง 33% จากภาคใต้ตอนบน 32% จากภาคตะวันออก 24% และจากภาคกลาง 11% ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16%

ส่วนการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้ ปริมาณ 128,758 ตัน มูลค่า 39,251 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 63 ที่ส่งออกปริมาณ 123,297 ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่าที่ 4% และ 9% ตามลำดับ แม้ประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าขนส่งราคาสูง และอื่นๆ” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว

นายชัยภัทร ประเสริฐมรรค กรรมการบริหารสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 64 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนประมาณ 90,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยช่วงต้นปีเกษตรกรลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง และพบความเสียหายจากโรคตัวแดงดวงขาว อย่างไรก็ตามการเลี้ยงครึ่งปีแรกให้ผลค่อนข้างดี สามารถทำผลผลิตได้ตามเป้าหมายและมีการลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง

ส่วนครึ่งปีหลัง ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น พบการเสียหายจากโรคอีเอชพี และขี้ขาวเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวนและโรคระบาด ทำให้เกษตรกรระมัดระวังมากในการเลี้ยงมากขึ้น โดยลดการความหนาแน่นและทยอยการปล่อยกุ้ง ส่วนช่วงปลายปีเกษตรกรมีการพักบ่อ ทำความสะอาดบ่อและจัดการเคลียร์ระบบการเลี้ยงภายในฟาร์ม เพื่อเตรียมปล่อยกุ้งใหม่ในช่วงต้นปี 65 เช่นกัน

นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างว่า ผลผลิตปี 64 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 92,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 12% พบการเสียหายโรคตัวแดงดวงขาว จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา

โดยเชื้ออีเอชพี และโรคขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญต่อการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง พบการเสียหายจากโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรลดความหนาแน่นในการเลี้ยงและทยอยการปล่อยกุ้ง เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรค และดูสถานการณ์ โดยเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีการพักบ่อ ทำความสะอาดบ่อและจัดการเคลียร์ระบบการเลี้ยงภายในฟาร์ม เพื่อเตรียมปล่อยกุ้งใหม่ในช่วงต้นปี 65

ด้านนางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 64 ในพื้นที่ภาคตะวันออกประมาณ 66,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 18% โดยจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้แรงงานขาดแคลน เกษตรกรชะลอการเลี้ยงในช่วงต้นปี และพบความเสียหายของโรคตัวแดงดวงขาว โดยเฉพาะ จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด และพบโรคหัวเหลืองในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มากกว่าในปีที่ผ่านมา

สำหรับโรคอีเอชพี และขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญสำหรับการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปีโดยพบมาในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาปัจจัยการผลิต ต้นทุนแฝงจากการเสียหายจากโรค ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง

ส่วนผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 32,000 ตัน เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีการลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงต้นปีสภาพอกาศแปรปรวน พบความเสียหายจากโรคหัวเหลือง และตัวแดงดวงขาว

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า การเลี้ยงกุ้งของไทยในปีนี้ เกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยง และเป็นต้นทุนแฝงกับเกษตรกร ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกุ้งเปลี่ยนไปมากจากเดิมที่ไทยเป็นอันดับต้นๆ ในด้านการผลิตกุ้ง เพราะไทยมีปัจจัยที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ เรื่องพันธุ์กุ้ง อาหาร และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ

“ปัจจุบันสถานการณ์กุ้งเปลี่ยนไปมาก ไทยตกไปอยู่อันดับ 6 หรือ 7 ซึ่งเกิดจากการไม่มีการวางแผนในการนำสินค้ากุ้งไปสร้างตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง จึงต้องหันมาร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง บริษัทอาหาร ปัจจัยการผลิต ผู้ส่งออก และภาครัฐ นำคำว่ากุ้งไทยกลับมาสู้กับตลาดโลก เพื่อเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง”

นายบรรจง กล่าว

ด้านนายเอกพจน์ ยอดพินิจ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวถึง “7 แนวทาง – 1 ความร่วมมือ-รัฐปรับบทบาท” เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้ง ดังนี้

1. ต้องกำหนดเป้าหมายการผลิตกุ้งในประเทศที่ชัดเจน

2. มีรูปแบบแนวทางการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม

3. ปัญหาโรคระบาดได้รับการแก้ไขป้องกันได้เบ็ดเสร็จ

4. เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน-ภาครัฐและสถาบันการเงิน สนับสนุนดอกเบี้ยพิเศษสำหรับเกษตรกร เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกร มีเงินทุนในการปรับโครงสร้างฟาร์ม และโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

5. สร้างช่องทางการขาย และความได้เปรียบในการแข่งขันและการประชาสัมพันธ์เชิงรุก รวมถึงการเจรจา FTA

6. สร้างระบบมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม

7. นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“ส่วน 1 ความร่วมมือนั้นเกษตรกรต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ด้านการเลี้ยง สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้น และที่สำคัญภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลง ปรับบทบาท (Transform) จากการสนับสนุน และบริการ ซึ่งทำดีมาก และต้องทำต่อไป มาร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูอุตสาหกรรมอย่างจริงจังมากขึ้น ที่กล่าวเช่นนี้ ด้วย 30 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนพยายามอย่างเต็มที่ในการนำพา/พัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรมที่มีมูลค่ากว่าแสนล้าน จนไม่เหลืออะไรให้เล่นแล้ว ถึงวันนี้ภาครัฐต้องมามีส่วนในความรับผิดชอบ ลงทุนในการพัฒนาฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยร่วมกับเอกชนในเรื่องเทคโนโลยีเรื่องการเลี้ยง ฯลฯ”

นายเอกพจน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top