พีซแอนด์ลีฟวิ่ง แต่งตัวเข้าตลาดหุ้นปี 65 ต่อยอดธุรกิจกระจายพอร์ตขยายฐานลูกค้า

นายประสพศักดิ์ ศิริโสภณา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีซแอนด์ลีฟวิ่ง กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อต่อยอดสร้างการเติบโต และทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เบื้องต้นคาดว่าแผนการระดมทุนและเข้าตลาดหลักทรัพย์จะเดินหน้าในช่วงปี 65

บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีประสบการณ์มากว่า 27 ปี โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาโครงการสไตล์รีสอร์ทในจังหวัดกาญจนบุรี นำความร่มรื่นมาสู่ใจกลางเมืองด้วยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และหัวใจที่เข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง ภายใต้คอนเซปต์ Prosperous Living with PEACE เพื่อมอบประสบการณ์การใช้ชีวิตเพียบพร้อมและสงบสุขแก่ผู้อยู่อาศัย ผ่านแนวทางดำเนินธุรกิจ เน้นการสร้างบ้านที่มีคุณภาพดีที่สุดสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ในราคาที่เหมาะสม

การเข้าตลาดหลักทรัพย์จะทำให้บริษัทสามารถนำเงินจากการระดมทุนไปต่อยอดในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะการกระจายพอร์ตสินค้าที่อยู่อาศัยของบริษัทไปที่กลุ่มคอนโดมิเนียม ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการมองหาทำเลในเมืองที่มีศักยภาพมาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม เพื่อเป็นกระจายพอร์ตสินค้าที่อยู่อาศัยของบริษัทให้มีความหลากหลาย เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างมากขึ้น

ปัจจุบันบริษัทเน้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ ได้แก่ บ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมแบบ 2 ชั้น และ 3 ชั้น ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้แบรนด์ “The Glamor” “Cordiz” และ “Cher” และแบรนด์ใหม่ล่าสุด คือ “Cherene” และ “CHEREA VICINITY” ซึ่งแต่ละโครงการได้ออกแบบสไตล์โมเดิร์น เน้นบรรยากาศร่มรื่น สงบ มีความเป็นส่วนตัว การเดินทางสะดวกสบาย ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก บนทำเลที่ดีตอบโจทย์การใช้ชีวิต ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่อย่างแท้จริง

นายประสพศักดิ์ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดแนวทางดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ (New normal) รวมถึงแนวทางการทำงานที่บ้าน ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างชัดเจน ส่งผลให้ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน มักมองหาบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม ที่มาพร้อมกับฟังก์ชันในด้านต่างๆที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยจริง ทั้งในเรื่องหลักอย่างทำเลที่ตั้งโครงการ พื้นที่ใช้สอย ดีไซน์ และราคาที่เหมาะสม ส่งผลให้ลูกค้าซื้อที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม เป็นต้น ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าที่อยู่อาศัยประเภทแนวสูงและมีพื้นที่แยกเป็นสัดส่วนมากกว่า

นอกจากนี้ปัจจัยบวกจากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัว เอกชนเดินเครื่องธุรกิจเกิดการจ้างงาน ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนดีขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพ และการผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นการปลดล็อกตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาคึกคักขึ้น เนื่องจากลูกค้าสามารถกู้ซื้อบ้านได้เต็มมูลค่า ส่งผลให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย สามารถกู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบถือเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และเป็นการซื้อบ้านหลังแรกเป็นส่วนใหญ่ จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าคอนโดมิเนียม

ด้านนายโดม ศิริโสภณา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและการขาย กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก โดยฝ่ายการตลาดและการขายจะทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมและวิจัยตลาดอย่างสม่ำเสมอ (Market Research) เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของภาวะอุตสาหกรรม สภาวะตลาด การแข่งขันในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต เพื่อเข้าถึงข้อมูลกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ความต้องการของผู้บริโภคและความเป็นไปได้ของโครงการ

นอกจากนี้ หน่วยงานวิจัยตลาดจะทำการลงสำรวจพื้นที่เป้าหมายจริง รวมทั้งเก็บข้อมูลนำมาเป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์และสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เริ่มใช้สื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ เช่น สื่อออนไลน์ Facebook บทความในเว็บไซต์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง และกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงการของบริษัทได้พัฒนาและออกแบบบ้านที่ทันสมัยด้วยระบบสมาร์ทโฮม (Smart Home) ที่สามารถควบคุมอุปกรณ์ และระบบภายในบ้าน ผ่านแอปพลิเคชัน พัฒนาระบบบริหารนิติบุคคลบ้านจัดสรรแบบ Smart Community ช่วยให้ลูกบ้านสามารถจัดการการซ่อมแซมบ้านหรือแจ้งปัญหาต่างๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน รวมถึงศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนำเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบใหม่มาใช้เพื่อบริหารจัดการงานก่อสร้างและบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพเโดยเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

บริษัทได้ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบ เริ่มตั้งแต่ปี 32 พัฒนาโครงการประเภทรีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี และประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นับจากอดีตถึงปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการมาแล้วรวมทั้งสิ้น 25 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 1.65 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายการปิดการขายโครงการภายใน 2–3 ปีสำหรับโครงการที่มีจำนวนยูนิตไม่เกิน 200 ยูนิต และภายใน 3-5 ปีสำหรับโครงการที่มีมากกว่า 200 ยูนิต

ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการขายและรอโอนรวม 7 โครงการ มูลค่ารวม 4.71 พันล้านบาท และมียอดขายรอโอน (Backlog) ราว 600 ล้านบาท ส่วนในปี 65 บริษัทมีแผนโครงการใหม่อีก 3 โครงการ มูลค่ารวม 3.04 พันล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top