มูดี้ส์คาดโควิดกระทบตลาดเกิดใหม่ แต่เอเชียอาจฟื้นตัวดีกว่าภูมิภาคอื่น

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิสคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แม้เผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะเผชิญกับความท้าทายในการผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

“การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผลกระทบต่อประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในระดับที่รุนแรงกว่าประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้ว และภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็มีโอกาสเกิดขึ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่มากกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นกัน” นางแอทซี เชธ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยและบริการด้านจัดอันดับเครดิตของมูดี้ส์เปิดเผยในรายการ “Streets Signs Asia” ของสถานีโทรทัศน์ CNBC เมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.)

นางเชธ์กล่าวว่า ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังคงล้าหลังและการที่ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มแพร่ระบาดทั่วโลก ทำให้อุปสงค์ในหลายประเทศของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินก็ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เช่นกัน

“แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่ยังคงอยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่ง และปัญหาติดขัดด้านอุปทานก็เริ่มบรรเทาลง” 

นางเชธ์กล่าว

รายงานของมูดี้ส์ระบุว่า หนึ่งในปัจจัยที่สร้างความกังวลคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อันเนื่องมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่นางเชธ์กล่าวว่า รัฐบาลจีนมีเครื่องมือด้านนโยบายที่จำเป็นในการจัดการกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ

“สิ่งที่เราตั้งสมมติฐานไว้ก็คือว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากวิกฤตการณ์ด้านการเงิน สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอยู่แค่ในวงจำกัด และเชื่อว่าจะไม่ลุกลามไปสู่ภาคการเงิน” 

นางเชธ์กล่าว

นางเชธ์ยังกล่าวด้วยว่า ความท้าทายอีกด้านหนึ่งของเอเชียคือปัญหาเงินเฟ้อ และความจริงอีกข้อหนึ่งที่ธนาคารกลางต้องตระหนักก็คือว่า ธนาคารกลางจะสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจได้มากเพียงใด หากไวรัสโอมิครอนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

“ปัญหาเงินเฟ้อที่เราพบในหลายประเทศของกลุ่มตลาดเกิดใหม่นั้น เกิดจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหาร อันเนื่องมาจากสภาพอากาศแห้งแล้ง รวมทั้งราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมบรรดาธนาคารกลางจึงต้องพึ่งพาข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่จะส่งสัญญาณเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินครั้งต่อไป” 

นางเชธ์กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top