รฟท.รอสรุปรูปแบบ PPP สายสีแดงส่วนต่อขยายคาดเสนอ คนร.-ประมูลปี 66

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า โครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบดำเนินการ ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช , ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) วงเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ได้เตรียมดำเนินการก่อสร้างควบคู่กับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่มีแผนเข้าพื้นที่ในเดือน ต.ค.66 เพื่อให้การก่อสร้างมีความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะช่วงสถานีจิตรลดาที่จะก่อสร้างเป็นคลองแห้ง

ทั้งนี้ รถไฟสายสีแดงที่มีการเปิดให้บริการในปัจจุบัน และสายสีแดงส่วนต่อขยายนั้น รฟท.ได้มีการศึกษารูปแบบการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ขณะนี้รายงานการศึกษาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างสรุปข้อมูล และเสนอกระทรวงคมนาคม ซึ่งต้องการให้ รฟท.เร่งรัดการก่อสร้างช่วง Missing Link โดยเร็ว คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ ครม.ภายใน 6 เดือน คาดว่าอนุมัติโครงการและได้ตัวผู้รับจ้างก่อสร้างในปี 66

แนวทางในการดำเนินการรูปแบบ PPP-Net Cost เบื้องต้นมี 3 แนวทางคือ 1. ให้เอกชนลงทุน 100% แต่ผลตอบแทนค่า EIRR ต่ำมาก 2. รัฐลงทุนโยธา เอกชนลงทุนจัดหารถ เดินรถ ซ่อมบำรุง (O&M) และจัดเก็บรายได้ ซึ่งค่า EIRR ยังต่ำกว่า 12% แนวทางที่ 3 รัฐลงทุนโยธาและจัดหารถ โดยให้เอกชนเดินรถ ซ่อมบำรุงทั้งตัวรถและโครงสร้างพื้นฐานไปด้วย ซึ่งเอกชนจัดเก็บรายได้ แบ่งค่าสัมปทานและจ่ายค่าตัวรถให้รฟท. พบว่ามีความเป็นไปได้ในการลงทุน มีค่า EIRR เหมาะสมที่สุด ภายใต้ระยะเวลา 50 ปี โดยหากได้รับความเห็นชอบ รฟท.จะเปิดประมูลก่อสร้างงานโยธาได้ทันที เนื่องจาก ครม.เห็นชอบไว้แล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top