In Focus: ส่องบุคคลเด่นเอเชียที่ทั่วโลกจับตาในปี 2564

ตลอดปี 2564 เรื่องราวที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดยังคงหนีไม่พ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ ทว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป หลายประเทศทั่วโลกจึงพยายามกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ มีการกลับมาจัดกิจกรรมต่าง ๆ หลังจากที่ต้องงดหรือเลื่อนออกไป เช่น มหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว และมหกรรม Expo 2020 ที่ดูไบ เป็นต้น ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเช่นกัน และท่ามกลางความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็มีบุคคลที่โดดเด่นขึ้นมา สำหรับปีนี้เรามาโฟกัสที่บุคคลเด่นของเอเชียซึ่งได้รับความสนใจในระดับโลก

“สี จิ้นผิง” ผู้ผงาดครองแดนมังกร

นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังคงเป็นผู้นำทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลในระดับโลก โดยผู้นำจีนติดโผ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกประจำปี 2564 ของนิตยสารไทม์ และครองอันดับ 3 บุคคลที่ได้รับการชื่นชมมากที่สุดในโลกประจำปี 2564 จากการจัดอันดับของยูกอฟ บริษัทวิจัยตลาดระดับโลกจากอังกฤษ นอกจากนี้ ปี 2564 ยังเป็นวาระสำคัญอย่างยิ่งของผู้นำแดนมังกร เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มีมติครั้งประวัติศาสตร์ ยกย่องนายสี จิ้นผิง ให้มีสถานะเทียบเท่าผู้นำคนสำคัญในอดีตอย่าง “เหมา เจ๋อตุง” และ “เติ้ง เสี่ยวผิง” ส่งผลให้ผู้นำจีนได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 19 ครั้งที่ 6 ได้รับรองมติว่าด้วยประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์และความสำเร็จครั้งสำคัญอันเป็นผลมาจากความพยายามตลอด 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งการรับรอง “มติครั้งประวัติศาสตร์” ในลักษณะนี้ เกิดขึ้นเพียงสามครั้งนับตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2488 ในยุคของนายเหมา เจ๋อตุง บิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี 2524 ในยุคของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากประธานเหมา

มติครั้งประวัติศาสตร์สองครั้งแรกถูกใช้แบ่งแยกจากอดีต โดยมติครั้งแรกช่วยปูทางให้นายเหมา เจ๋อตุง สามารถรวบรวมอำนาจและประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 ส่วนมติครั้งที่สองนั้น นายเติ้ง เสี่ยวผิง ได้วิจารณ์ความผิดพลาดของประธานเหมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมที่ทำให้คนเสียชีวิตนับล้าน พร้อมกับวางรากฐานการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน แต่มติครั้งที่สามนั้นแตกต่างออกไป โดยนายสี จิ้นผิง ได้ตอกย้ำแนวทางการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของเขา และมุ่งเน้นความต่อเนื่องในการเติบโตของจีน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะปูทางให้นายสี จิ้นผิง สามารถกระชับอำนาจให้เข้มแข็งขึ้นและครองอำนาจยาวนานต่อเนื่อง หลังจากที่ในปี 2561 สภาประชาชนแห่งชาติจีนได้ลงมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากที่จำกัดไว้สูงสุดเพียงสองสมัย ให้เป็นการดำรงตำแหน่งอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งเปิดทางให้นายสี จิ้นผิง สามารถครองเก้าอี้ผู้นำได้ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการของจีนยังเตรียมบรรจุชุดความคิดของนายสี จิ้นผิง ว่าด้วย “แนวคิดสังคมนิยมแบบจีนในยุคสมัยใหม่” ในหลักสูตรการศึกษาของชาติตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษา หลังจากที่แนวคิดดังกล่าวได้ถูกบรรจุเข้าสู่รัฐธรรมนูญของจีนอย่างเป็นทางการในปี 2561 โดยแผนการศึกษาดังกล่าวมุ่งเน้นให้เด็กรุ่นใหม่ “รับฟังและปฏิบัติตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน” และปลูกฝัง “ความรู้สึกรักชาติ” ซึ่งหลายคนอดรู้สึกไม่ได้ว่า นี่เป็นการปูทางไปสู่การครองอำนาจตลอดชีวิตของนายสี จิ้นผิง แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง แนวคิดของเขาก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เพราะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน และนำพาประเทศเข้าสู่ยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด จนจีนกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก

“มิน อ่อง หล่าย” ผู้นำรัฐประหารเมียนมา

ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ก่อรัฐประหารและบุกควบคุมตัวแกนนำของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พร้อมกับประกาศยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลพรรค NLD โดยอ้างเหตุผลของการก่อรัฐประหารว่า เกิดจากการทุจริตในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งส่งผลให้พรรค NLD ของนางซูจีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย

นับตั้งแต่นั้นมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็ตกเป็นเป้าความสนใจของทั่วโลก แต่ไม่ใช่ในแง่ดีนัก เขาถูกขุดคุ้ยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตอนเหนือของเมียนมา นอกจากนั้นยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเขาถือหุ้นในบริษัท Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในความดูแลของกองทัพเมียนมา ส่วนครอบครัวของเขาก็ประกอบธุรกิจหลากหลาย ทั้งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ร้านอาหาร รีสอร์ท อสังหาริมทรัพย์ สื่อ ภาพยนตร์ ฯลฯ และเขาก็ถูกวิจารณ์มาตลอดว่าใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับครอบครัว

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ถูกคว่ำบาตรจากทั่วโลก โดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่และนายทหารระดับสูงของเมียนมาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ขณะที่สหราชอาณาจักรก็ประกาศคว่ำบาตรพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรบุตรทั้งสองคนของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย รวมไปถึงธุรกิจต่าง ๆ ที่บุคคลทั้งสองเป็นเจ้าของ เพื่อตอบโต้การทำรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงในเมียนมา นอกจากนี้ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านยังตีตัวออกห่าง เรียกได้ว่าพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย โดดเด่นในทางลบในสายตาทั่วโลกไปแล้ว

“นาโอมิ โอซากะ” ผู้ก้าวข้ามอคติทางเชื้อชาติ

หากนึกถึงนักกีฬาดาวเด่นจากเอเชียบนเวทีโลกแล้ว หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสสาวลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติ เธอเริ่มมีชื่อเสียงไปทั่วโลกหลังจากล้ม เซเรน่า วิลเลียมส์ ในศึกยูเอสโอเพ่นเมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการเทนนิส เพราะถือเป็นนักเทนนิสชาวญี่ปุ่นคนแรกที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้สำเร็จ และเป็นการโค่นแชมป์ยูเอสโอเพ่น 6 สมัย ผู้เป็นไอดอลของเธอเอง หลังจากนั้นเส้นกราฟของเธอก็พุ่งไม่หยุด จนขึ้นสู่ตำแหน่งนักเทนนิสอาชีพหญิงมือวางอันดับ 1 ของโลกในปี 2562 สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้เล่นชาวเอเชียคนแรกที่สามารถครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลก

ปัจจุบัน แม้ว่าเธอจะหล่นลงมาเป็นมือวางอันดับ 2 ของโลก แต่ชื่อเสียงของเธอไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปเลย ในปี 2564 เธอได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บส์ให้เป็นนักกีฬาหญิงที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล และติดอันดับ 12 จากการจัดอันดับ 50 นักกีฬาที่ทำรายได้สูงสุดในโลกในปี 2564 นอกจากนั้น เธอยังติดโผ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกประจำปี 2564 ของนิตยสารไทม์ด้วย

แม้จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศญี่ปุ่น แต่ด้วยความที่รูปลักษณ์ภายนอกของเธอดูไม่เหมือนคนญี่ปุ่น และเธอพูดภาษาญี่ปุ่นไม่คล่องนักเพราะเติบโตในสหรัฐอเมริกา เธอจึงถูกชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งโจมตีว่าอัตลักษณ์ของเธอไม่เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนของชาติ แต่เธอก็ได้ใช้ความสามารถของตัวเองเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า คุณค่าที่แท้จริงของคนไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้สังคมญี่ปุ่นยังคงมีความรู้สึกย้อนแย้งกับเธออยู่ แต่ในขณะเดียวกันเธอก็ได้กลายเป็นไอดอลของคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่จำนวนมาก และในปี 2564 สปอตไลต์ก็ได้ฉายมาที่เธออย่างเต็มที่ เพราะเธอได้เป็นผู้นำคบเพลิงไม้สุดท้ายไปจุดในกระถางไฟของโอลิมปิกสเตเดียมในกรุงโตเกียว เพื่อเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ ซึ่งเธอได้แสดงความรู้สึกผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฐานะนักกีฬา และเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตของฉัน ฉันไม่รู้ว่าจะอธิบายความรู้สึกนี้ออกมาได้อย่างไร รู้แต่ว่าหัวใจของฉันกำลังเปี่ยมล้นไปด้วยความรู้สึกขอบคุณ”

“ลิซ่า” ผู้เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย

ปี 2564 ถือเป็นปีทองของ ลิซ่า แบล็กพิงก์ หรือ ลลิษา มโนบาล สาวไทยที่ไปเติบโตในวงการเคป๊อปของเกาหลี และตอนนี้ดังไกลไปถึงระดับโลก หลังจากปล่อยโซโล่เพลงแรกอย่าง “LALISA” เมื่อวันที่ 10 กันยายน ลิซ่าก็ปังไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ทุบสถิติโลกกินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด “มิวสิควิดีโอบนยูทูบของศิลปินเดี่ยวที่มียอดวิวสูงสุดใน 24 ชั่วโมง” ด้วยยอดวิว 73.6 ล้านครั้งภายใน 24 ชั่วโมงแรก โค่นแชมป์เก่าที่ครองตำแหน่งมานานตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 อย่างเพลง “Me!” ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่มียอดวิว 65.2 ล้านครั้งใน 24 ชั่วโมงแรก นอกจากนี้ ซิงเกิล LALISA ยังสร้างอีกหนึ่งสถิติใหม่ด้วยการเป็น “มิวสิควิดีโอบนยูทูบของศิลปินเดี่ยวเคป๊อปที่มียอดวิวสูงสุดใน 24 ชั่วโมง” โดยทุบสถิติเพลง “On The Ground” ของโรเซ่ แบล็กพิงก์ ที่ทำยอดวิว 24 ชั่วโมงแรกไว้ที่ 41.6 ล้านครั้ง ส่วนอีกเพลงในอัลบัมเดียวกันอย่าง “MONEY” ก็เปิดตัวอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard Rap Digital Song Sales ของสหรัฐอเมริกา ส่งให้ลิซ่าสร้างประวัติศาสตร์เป็นศิลปินหญิงเคป๊อปรายแรกที่ครองอันดับ 1 บนชาร์ตนี้

ราวสองสัปดาห์ก่อนปล่อยโซโล่เพลงแรก ลิซ่าสร้างประวัติศาสตร์เป็นเซเลบจากเอเชียและไอดอลเคป๊อปเพียงหนึ่งเดียวที่ติดโผ 1000 บุคคลทรงอิทธิพล (อินฟลูเอนเซอร์) บน IG ในสหรัฐอเมริกา ประจำเดือนสิงหาคม โดยอยู่ที่อันดับ 10 ขณะที่ 9 อันดับก่อนลิซ่าล้วนเป็นตัวพ่อตัวแม่ทั้งนั้น ได้แก่ ไคลี่ เจนเนอร์, อาเรียน่า กรานเด, เซเลนา โกเมซ, เคนดัล เจนเนอร์, คิม คาร์ดาเชียน, เนย์มาร์, บียอนเซ่ โนลส์, เทย์เลอร์ สวิฟต์ และ ริฮานน่า

ส่งท้ายปีในเดือนธันวาคม ยูกอฟ บริษัทวิจัยตลาดระดับโลกจากอังกฤษ ได้เปิดเผยผลสำรวจรายชื่อบุคคลที่ได้รับการชื่นชมมากที่สุดในโลกประจำปี 2564 โดยสำหรับฝ่ายหญิงนั้น ลิซ่าได้สร้างประวัติศาสตร์เข้ามาติดโผครั้งแรกในอันดับที่ 17 ส่วนอันดับที่สูงกว่าล้วนเป็นคนดังระดับโลก เช่น มิเชล โอบามา, แองเจลีนา โจลี, สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ, โอปราห์ วินฟรีย์, สการ์เล็ตต์ โจแฮนสัน, เอมมา วัตสัน, เทย์เลอร์ สวิฟต์, อังเกลา แมร์เคิล เป็นต้น … ถึงตอนนี้สามารถพูดได้เต็มปากว่า ลิซ่าเป็นคนดังระดับโลกแล้วจริง ๆ แต่ไม่ว่าจะดังแค่ไหน ลิซ่าก็ไม่เคยลืมความเป็นไทย และกล่าวเสมอว่าอยากให้ทุกคนรู้ว่าเธอเป็นคนไทย ลิซ่าจึงเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอย่างแท้จริง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top