เอกชน แนะภาครัฐเพิ่มบทบาทช่วยธุรกิจ-เศรษฐกิจไทยก้าวสู่เป้าหมายความยั่งยืน

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) อดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เดินหน้าเศรษฐกิจไทย สู่เป้าหมายความยั่งยืน” โดยมองภาพของเศรษฐกิจในอนาคต ดังนี้ 1. Sustainability การค้าอย่างยั่งยืนในอนาคต ต้องแฝงอยู่ในการค้าผ่านดิจิทัล และผสานกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนในโลกจริง และโลกเสมือนจริง 2. Digital Transformation การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัล และ 3. Resilience การพร้อมรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ความทนทานต่อสภาพการณ์ปัจจุบันอย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

“มนุษย์ต้องมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจให้ดีที่สุด สามารถแข่งขันได้ ในขณะเดียวกันสังคมต้องมีความยุติธรรม เช่น ระบบภาษีที่เท่าเทียม และเสรีภาพส่วนบุคคล ที่ทั้งการเข้าถึงปัจจัย 4 เสรีภาพในการเรียน และเสรีภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน”

นายศุภชัย กล่าว

ทั้งนี้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะมุ่งเน้นสู่ความก้าวหน้าเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ต้องมองแนวทางของประเทศไทย และอาเซียน ไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว ไม่เพียงเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ดีขึ้น เป็นการพัฒนาที่ยังหลงเหลือทรัพยากรให้คนรุ่นหลังพัฒนาต่อไป โดยมีปัจจัยที่ต้องพัฒนา ดังนี้

1. ต้องเปลี่ยนกรอบความคิดของคนให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าคนเอเชียสามารถเปลี่ยนได้มากกว่าประเทศฝั่งยุโรป เนื่องจากไทยมีกรอบแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว ซึ่งมีหลักการเรื่องการพึ่งตนเองให้มากที่สุด เพื่อให้มีความหนักแน่น และสามารถต่อต้านและแข่งขันกับกระแสภายนอกได้

2. การดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ ภายในปี 2573 เช่น การยุติความยากจน การยุติความหิวโหย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความไม่เสมอภาค เป็นต้น โดยต้องให้ความสำคัญกับ 5P คือ 1. People 2. Prosperity 3. Peace 4. Planet และ 5. Partnership

3. เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561-2580) ซึ่งทุกด้านต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เช่น เกษตรยั่งยืน คือเกษตรชีวภาพ ที่ไม่ใช้สารเคมี ประกอบกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาความแม่นยำในการทำเกษตรมากขึ้น, การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน คือ การท่องเที่ยวที่มีวัฒนธรรมมากขึ้น ดำเนินการโดยชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่การจัดทัวร์ และด้านสิ่งแวดล้อม ที่ล่าสุดไทยได้เข้าร่วมประชุม COP26 เรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งในอนาคตอาจมีตลาดคาร์บอน หรือในฝั่งประเทศทางยุโรปก็เริ่มเห็นการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจะสามารถเข้าสู่ภาวะความยั่งยืนได้ต้องอาศัย 1. รัฐบาลต้องมีคุณภาพ และเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีนโยบายเป้าหมายทางอุตสาหกรรมของรัฐที่ชัดเจน และมีแผนที่จะเข้าไปพัฒนาจริง เช่น ก่อนหน้านี้เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น

2. เรื่องการพัฒนามนุษย์ ให้ผู้ด้อยโอกาสมีทางเลือกในการเข้าถึงสิทธิในการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิต ซึ่งบทบาทของชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้ เช่น การเพิ่มอาสาสมัครประจำหมู่บ้านด้านการศึกษา ด้านสังคม เป็นต้น

3. เรื่องแนวคิดวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ต้องมีการเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจ และเกิดการปฎิบัติจริง ไม่เป็นเพียงแนวคิดลอยๆ

4. บทบาทของไทยในเวทีโลก ต้องมีความหนักแน่น มีการชี้นำ และมีส่วนร่วมในการประชุมเจรจา โดยขณะนี้สิ่งที่ไทยสามารถทำได้ คือ การเข้าไปมีบทบาทในอาเซียนในเรื่องที่ถนัด เช่น เรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นต้น

ด้านนายเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวถึงแนวคิดในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ว่า เริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ “Powering life with Future energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังงานอนาคต พร้อมสนับสนุน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยก่อนหน้านี้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเพียงน้ำมัน และแก๊ส แต่ปัจจุบันเพิ่มธุรกิจพลังงานในอนาคต และพร้อมเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมพลังงาน และการขนส่ง ปล่อยแก๊สเสียประมาณ 70% ดังนั้น รูปแบบการใช้พลังงานในอนาคตจะต้องเปลี่ยนไป คือ 1. Go green เพิ่มพลังงานสะอาดมากขึ้น และ 2. Go electric ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งล่าสุดบริษัทฯ ก็ได้ตัดสินใจที่จะออกจากธุรกิจถ่านหินแล้ว

ส่วนการตั้งเป้าหมายในอนาคต จะมีการดำเนินธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น ธุรกิจยา สุขภาพ และรถยนต์ไฟฟ้า ( EV) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายว่า อีก 10 ปีข้างหน้า กำไรของบริษัทฯ อย่างน้อย 30% ต้องมีสัดส่วนมาจาก Future energy and Beyond จากปัจจุบันที่มีอยู่ไม่เกิน 5%

ในขณะเดียวกันธุรกิจต้องมีการเติบโต มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า โดยแบ่งเป็นธุรกิจไฟฟ้าที่มาจากก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทน นอกจากนี้ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% พร้อมช่วยภาครัฐให้ไปถึงเป้าหมาย Net Zero ในปี 2608 ซึ่งบริษัทฯ จะมีการประกาศจุดยืนเรื่องการปล่อยก๊าซเร็วๆ นี้

“การก้าวสู่ความยั่งยืนนั้น ต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจเรื่อง Net Zero ในองค์กร ให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกัน ต้องทำความเข้าใจกับพาร์ทเนอร์ และผู้ถือหุ้นด้วย”

นายเทอดเกียรติ กล่าว

ในส่วนของข้อเสนอแก่ภาครัฐ เนื่องจากการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนนั้นมีต้นทุน และทุกองค์กรมีความแข็งแรงไม่เท่ากัน ภาครัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการซัพพอร์ต เช่น บริษัทฯ มีการปลูกป่าตั้งแต่ปี 2537 มากกว่า 1,100,000 ไร่ ใน 58 จังหวัด ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดูแล ทางภาครัฐจึงควรมีข้อบังคับในการเคลมเครดิตได้ เป็นต้น

ด้านนายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมี 2 มิติ คือ การอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและตลอดไป ด้วยโมเดล BCG คือ Bio economy การนำของเสียหรือผลพลอยได้มาใช้ประโยชน์ Circular economy การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเทคโนโลยีสะอาด และ Green Economy การควบคุมปัจจัยการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนมิติที่สอง ต้องช่วยเพิ่มกำลังซื้อ พัฒนาประเทศ สร้างความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุม เหมาะกับการสร้างงานในพื้นที่ ไม่ให้ประชาชนมากระจุกอยู่แต่ในเฉพาะตัวเมือง โดยแผนการสร้างงานในพื้นที่ ขณะนี้มองการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ แบ่งเป็น 4 ธุรกิจ คือ

1. ธุรกิจท่าเรือ

2. นิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมเบา และอุตสาหกรรมเกษตร

3. โรงไฟฟ้ารวมประมาณ 3,700 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ 1,000 เมกะวัตต์ พลังงานลม 800 เมกะวัตต์ ชีวมวลและขยะ 200 เมกะวัตต์ และโรงฟฟ้าเพื่อความมั่นคงอีก 1,700 เมกะวัตต์

4. Smart City ซึ่งจะมีองค์ประกอบของเมืองใหญ่ครบถ้วน ตั้งแต่ศูนย์สุขภาพ ที่อยู่อาศัย โรงเรียน สถานีตำรวจ และสถานที่พักผ่อน เป็นต้น โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 7 แกนเทคโนโลยี บนพื้นที่ 16,753 ไร่ใน 3 ตำบล ทั้งนี้ เมื่อสามารถดำเนินการจนครบทุกเฟส จะก่อให้เกิดการสร้างงานถึง 1-3 แสนอัตรา ซึ่งยังไม่รวมพื้นที่รอบข้าง

“บริษัทฯ เลือกลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้มีเด็กจบใหม่ประมาณ 25,000 คนต่อปีจาก 5 มหาวิทยาลัยหลัก ประกอบกับพื้นที่ภาคใต้ขาดไฟฟ้า ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และที่สำคัญคือจะไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างผลกระทบ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะสามารถสร้างความมั่นคงให้ประเทศได้ ซึ่งสิ่งที่จะหยุดไฟใต้ได้ก็คือ เศรษฐกิจ และการสร้างงาน”

นายภัคพล กล่าว

ในส่วนของคำแนะนำต่อภาครัฐ แบ่งเป็น 2 มิติ 1. การอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รัฐต้องทำตลาดคาร์บอนให้เติบโต และมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน เพราะภาคเอกชนมีต้นทุนในการดำเนินงาน และ 2. การกระจายงานเข้าพื้นที่ต่างๆ รัฐควรช่วยอำนวยความสะดวก และสร้างความน่าลงทุนให้แก่ประเทศไทย นอกจากนี้ รัฐต้องฟังเสียงของทั้งผู้คัดค้าน และผู้สนับสนุนให้รอบด้าน

สำหรับการดำเนินงานของบริษัทฯ ปัจจุบันได้มีการดำเนินธุรกิจด้วยการนำขยะมาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิง และพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดก๊าซมีเทน แต่มีส่วนหนึ่งที่ยังมีการผลิตพลังงานจากถ่านหิน แต่เมื่อหักลบแล้วบริษัทถือว่าดำเนินการได้เกินคำว่า Net Zero ไปแล้ว จากการที่บริษัทฯ ช่วยกำจัดก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอน ประมาณ 6 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ดี ภายในปี 2566 บริษัทฯ จะเปลี่ยนส่วนที่ผลิตพลังงานจากถ่านหิน 220 เมกะวัตต์ เป็นขยะทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จในเฟสแรกในปี 2566 และจะถึงจุดที่มากกว่า Net Zero ภายในปี 2568 ซึ่งจะสามารถช่วยขจัดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 20 ล้านตันต่อปี โดยแนะภาคธุรกิจในไทยว่า ต้องเริ่มปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้ทันกับเป้าหมาย Net Zero ในปี 2608

ด้านน.ส.วาสินี ศิวะเกื้อ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงิน และประธานคณะกรรมการความยั่งยืน ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันธนาคารเป็นตัวกลางในการส่งผ่านความยั่งยืน ธนาคารจึงต้องดำเนินธุรกิจด้วยการยกระดับมาตรฐาน พร้อมการจัดการบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ความยั่งยืน โดยยูโอบี ได้ตระหนักถึงบทบาทในการมีความรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลง เพื่อส่งผ่านไปเรื่องความยั่งยืน โดยจะประเมินทั้งความเสี่ยง ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ความท้าทาย และผลกระทบ

สำหรับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัท คือ

  1. มุ่งเน้นสร้างสมดุลของการเติบโตของธุรกิจ และความสมดุลกับความมั่นคง
  2. โฟกัสที่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจ มุ่งสนับสนุนให้ลูกค้าเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบ ผ่านการสนับสนุนด้านการเงินอย่างยั่งยืน
  3. กลุ่มลูกค้ารีเทล จะมุ่งเน้นเพิ่มทุนความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง และยั่งยืน
  4. การมีส่วนร่วมกับความเป็นอยู่ที่ดีของสิ่งแวดล้อมและสังคม

ทั้งนี้ มีคำแนะนำต่อภาครัฐ คือ อยากให้เร่งประชาสัมพันธ์แนวคิดเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่ฐานราก เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และสามารถนำแนวคิดไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top