พลังงาน กางแผนปี 65 เดินหน้า Energy Transition มุ่งสู่ยุคพลังงานสะอาดเสริมสร้างศก.

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยถึงแผนงานในปี 65 ว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกตระหนักถึงสภาวะโลกร้อนส่งผลให้ภัยธรรมชาติเริ่มทวีความรุนแรงและส่งกระทบมากยิ่งขึ้น กอปรกับความสำคัญต่อเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ตามแผนที่ประกาศในเวทีการประชุม COP26 นั้น ทำให้ภาคพลังงานถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในเวทีโลก

ดังนั้น ในปี 65 กระทรวงพลังงานจึงมุ่งมั่นกำหนดทิศทางแผนการดำเนินงานภายใต้มิติ “Collaboration for Change: C4C ก้าวสู่ยุคพลังงานสะอาด จับมือพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดยจะมุ่งเน้นการปรับบทบาทองค์กรเพื่อก้าวสู่ยุค Energy Transition ปลดล็อก กฎระเบียบ และจับมือทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญ 3 ด้าน คือ

1) ด้านพลังงานสร้างความมั่นคงสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติที่คำนึงถึงพลังงานสะอาดและการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเช่น การขับเคลื่อน Grid Modernization สมาร์ทกริด ปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าสะอาด และบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

2) ด้านพลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ อาทิ ขับเคลื่อนการลงทุนโครงการประกอบกิจการปิโตรเลียม คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศมูลค่ากว่า 44,300 ล้านบาท กำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันและสัดส่วนการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมและเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระดับที่เหมาะสม ส่งเสริมการลงทุนปิโตรเคมีระยะ 4 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำหนดทิศทางการขยายการลงทุนปิโตรเคมีกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิดเพื่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในปี 65-69 กว่า 2-3 แสนล้านบาท ส่งเสริมลงทุนต่อเนื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานมูลค่ากว่า 143,000 ล้านบาท ส่งเสริมการลงทุน EV Charging Station และยานยนต์ไฟฟ้า และเร่งพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการขยายตัวการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ขยายผลการลงทุนพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านกองทุนอนุรักษ์ฯปี 65 วงเงินกว่า 1,800 ล้านบาท

3) ด้านพลังงานลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เดินหน้ากระจายเม็ดเงินลงทุนสู่ชุมชน 76 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน พร้อมขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อระยะที่ 1 พร้อมเตรียมการขยายผลโรงไฟฟ้าชุมชนระยะที่ 2

ขณะที่ในปี 64 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ได้เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คู่ขนานกับการช่วยเหลือสังคม บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัด รัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือ โดยในด้านบทบาทภารกิจหลัก อาทิ จัดทำ”แผนพลังงานแห่งชาติ” มุ่งสู่เป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ภายในปี 64 – 68 ให้สะท้อนต้นทุนในการให้บริการของกิจการไฟฟ้าอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม

ส่วนด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้ผลักดันให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 205,000 ล้านบาท อาทิ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลและบริษัทในเครือมูลค่ากว่า 169,000 ล้านบาท ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานตามนโยบายรัฐบาลจำนวน 25,777 อัตรา รวมถึงสร้างรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมรวมมูลค่า 34,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานช่วงสถานการณ์โควิด-19 ครอบคลุมทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ รวมมูลค่า 97,113 ล้านบาท ภายใต้มาตรการที่สำคัญๆ อาทิ การลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและกิจการขนาดเล็กกว่า 62 ล้านราย การตรึงค่า Ft ตลอดปี 64 การตรึงราคาขายปลีก LPG สำหรับผู้มีรายได้น้อยกลุ่มร้านค้าหาบเร่แผงลอยอาหาร รวมถึงได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือด้วยการรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวนตั้งแต่เดือน ต.ค.64 จนถึงเดือน มี.ค.65 รวมทั้งตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV เพื่อช่วยเหลือผลกระทบต่อรถสาธารณะที่ใช้ก๊าซ NGV อีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top