ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองธุรกิจแบงก์ปี 65 สินเชื่อโตชะลอ-จับตา NPL-Digital loan แข่งคึกคัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 กลับมาอีกครั้งในช่วงรอยต่อระหว่างปี 64 เข้าสู่ปี 65 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะเป็นตัวแปรที่มีผลต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีนัยต่อเนื่องมายังการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปี 65 ด้วยเช่นกัน โดยหากว่าไทยสามารถตีกรอบควบคุมการระบาดของโอมิครอนได้ดีและทันท่วงที ธนาคารพาณิชย์ก็จะยังคงมีเวลาที่จะสามารถพลิกฟื้นรายได้จากธุรกิจหลักและผลการดำเนินงานในภาพรวมกลับมาได้ แต่ระดับกำไรสุทธิ และมาตรวัดความสามารถในการทำกำไร ได้แก่ ROA และ NIM จะฟื้นตัวในกรอบจำกัด และจะยังอยู่ต่ำกว่าระดับในช่วงก่อนโควิด

โดยที่ประเมินว่ากำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบ ธ.พ.ไทย) ในปี 65 จะอยู่ที่ราว 1.86 แสนล้านบาทในปี 65 ต่ำกว่าระดับกำไรสุทธิเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดที่ทำได้สูงกว่า 2 แสนล้านบาท/ปี และสินเชื่อระบบ ธ.พ.ไทยมีแนวโน้มเติบโตในกรอบที่ชะลอลงเล็กน้อยมาที่ 4-5.5% จากที่คาดว่าจะปิดสิ้นปี 64 ที่ 6% แต่การเติบโตของสินเชื่อจะถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยปกติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่อยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่า สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 65 จะขยับขึ้นไปที่กรอบ 3.20-3.50% ต่อสินเชื่อรวม แม้ว่าจะยังคงได้รับอานิสงส์จากการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สิ่งที่ต้องติดตามในช่วงหลังจากนี้คงเป็นเรื่องระดับความเสี่ยงจากการระบาดของโอมิครอนอย่างใกล้ชิด โดยหากความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มสูงขึ้น และมาตรการสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานกว่าช่วงต้นปี 65 ก็คงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังรายได้จากธุรกิจหลัก และภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นในปี 65 จะเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเดินหน้าธุรกิจอย่างระมัดระวัง และต้องเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือด โดยเฉพาะค่าธรรมเนียม สินเชื่อดิจิทัล และการแสวงหาโอกาสในพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกการเงินยุคดิจิทัล ซึ่งผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 65 ขึ้นกับความสำเร็จในการล้อมกรอบการระบาดของโอมิครอน

ในปี 65 ที่กำลังจะมาถึง คงมาพร้อมกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ส่งผลทำให้ทางการไทยต้องยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันสถานการณ์การระบาดให้มีความเข้มงวดมากขึ้น หากไทยสามารถตีกรอบควบคุมการระบาดของโอมิครอนได้ดีและทันท่วงที รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ก็คงส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเผชิญภาวะหยุดชะงักแค่เพียงในช่วงต้นปี 65 แต่มีโอกาสที่จะกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลังจากนั้น (หรือช่วงไตรมาสที่ 2/65 เป็นต้นไป) และทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 65 ยังคงสามารถประคองแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าปี 64 ภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจตามภาพดังกล่าว จะเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถพลิกฟื้นรายได้จากธุรกิจหลักและผลการดำเนินงานในภาพรวมกลับมาได้เช่นเดียวกัน

ด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 65 คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวกลับมาอย่างค่อยเป็นค่อยไปอาจทำให้แรงหนุนจากการพักและ/หรือชะลอการชำระหนี้ที่มีต่อยอดคงค้างสินเชื่อน้อยลง และลูกหนี้บางส่วนน่าจะสามารถกลับมาเริ่มทยอยชำระคืนหนี้ได้มากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสินเชื่อระบบ ธ.พ.ไทยในปี 65 จะขยายตัวที่ 4.8% (กรอบคาดการณ์ที่ 4.0-5.5%) ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 64 ที่คาดว่าจะเติบโตราว 6%

สินเชื่อธุรกิจปี 65 อาจเติบโตราว 4.2-5.2% โดยมีแรงหนุนจากการเบิกใช้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจในประเทศและธุรกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนสินเชื่อสำหรับเสริมสภาพคล่องและเพื่อการลงทุนตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยอาจเติบโตประมาณ 4-6% สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะปิดสิ้นปี 64 ที่ 4% อย่างไรก็ดี กรอบการฟื้นตัวของสินเชื่อรายย่อยยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้เดิมของภาคครัวเรือนที่มีอยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ทิศทางการเติบโตของสินเชื่อดังกล่าวข้างต้นจะช่วยประคองให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิฟื้นตัวขึ้นตาม ขณะที่สถาบันการเงินมีแนวโน้มกระจายพอร์ตสินเชื่อไปยังพอร์ตที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งก็จะดำเนินการควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายในส่วนของเงินฝากให้มีประสิทธิภาพ

ประกอบกับในปี 65 ยังคงได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และ ธปท.ก็ได้มีการขยายเวลาปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF fee) ต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่า อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) มีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยไปที่ 2.60% (กรอบคาดการณ์ 2.50-2.70%) เทียบกับคาดการณ์ในปี 64 ที่ 2.54%

ในช่วงรอยต่อระหว่างปี 64-65 จะเป็นช่วงที่เห็นสัญญาณการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และท่าทีที่มีต่อตลาดแพลตฟอร์มสินเชื่อออนไลน์และบริการเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้อย่างชัดเจน ซึ่งสถาบันการเงินและผู้เล่นอื่นๆ แต่ละรายก็จะมีแนวทางเพื่อเดินหน้ารุกตลาดในส่วนนี้ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการแยกตั้งบริษัทย่อย และ/หรือการจับมือกับพันธมิตรเพื่อเดินหน้าให้บริการทางการเงินในโลกดิจิทัล ซึ่งขอบเขตธุรกิจที่สถาบันการเงิน และ/หรือกลุ่มธุรกิจทางการเงินไม่ว่าจะมีสถาบันการเงินหรือบริษัทโฮลดิ้งเป็นบริษัทแม่ ก็จะยังคงทำได้ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ตามเดิม

สำหรับบริการด้านสินเชื่อคาดว่าสีสันของตลาดสินเชื่อรายย่อยในปี 65 ส่วนหนึ่งจะอยู่ที่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital P-loan) โดย ณ ขณะนี้ มีสถาบันการเงินและนอนแบงก์ที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ในปัจจุบันได้รับอนุญาตให้สามารถปล่อยสินเชื่อ Digital P-loan แล้ว ดังนั้น ประเมินว่าสถานการณ์การแข่งขันของ Digital P-loan เพื่อช่วงชิงฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาดน่าจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงหลังจากนี้ โดยคาดว่า ยอดคงค้างของ Digital P-loan มีโอกาสเติบโตขึ้นแตะระดับสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาทได้ในปี 65 จากยอดคงค้างที่ 2.08 พันล้านบาทในเดือนต.ค. 64

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top