ดีอีเอส ประกาศแผนงานปี 65 ตั้งเป้าพัฒนาบริการดิจิทัลทั่วถึงเท่าไฟฟ้า-ประปา

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงแผนงานในปี 65 ว่า กระทรวงดิจิทัลฯ จะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงครอบคลุมมากที่สุด โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด จะนำร่องปูพรมบริการฟรีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่าน “โครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน” ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 8,246 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงบริการอินเทอร์เน็ตผ่านระบบสื่อสัญญาณดาวเทียม (Satellite) ความเร็วไม่น้อยกว่า 200/100 Mbps ในพื้นที่ที่ยังไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึง

ขณะที่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จะตอกย้ำการพัฒนาให้เป็นช่องทางการสื่อสารโดยตรงกับประชาชน รวมถึงการปฏิบัติงานร่วมกับเครือข่ายผู้ประสานงาน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือแจ้งเตือนให้แก่ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ควบคู่การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อรู้เท่าทันสื่อยุคดิจิทัล และมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาข่าวปลอม

ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เตรียมโครงการพัฒนากฎหมายและกลไกกำกับดูแลธุรกิจดิจิทัล จัดทำหลักเกณฑ์และมาตรฐานเกี่ยวกับการกำกับดูแลธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Service) มีกลไกการกำกับดูแล รวมถึงพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง (Secured Environment) ได้แก่ บริการพื้นฐานสำคัญที่น่าเชื่อถือ (Trust Services) สำหรับบริการประชาชนในกระบวนการอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ และการตรวจสอบเฝ้าระวังทางด้าน Cybersecurity ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ และโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในรายงานประจำปีระดับโลกของไอเอ็มดี (IMD World Digital Competitive Index)

รมว.ดิจิทัล ย้ำว่า สิ่งที่กระทรวงฯ จะขับเคลื่อนเพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ในปี 2565 คือ การส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจทัลเพิ่มขึ้น เพิ่มสถานภาพในการเข้าใจดิจิทัลเพิ่มขึ้นจากที่ผ่านมา เพิ่มความตะหนักผ่านสื่อส่งเสริมให้กลุ่มสูงวัย และกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสรู้ทันภัยไซเบอร์ สร้างโอกาสและความยั่งยืนให้กับชุมชนผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชน รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต เปลี่ยนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญเหมือนเช่นบริการไฟฟ้า และน้ำประปา โดยจะสนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางบริการดิจทัลประจำภูมิภาค

การพัฒนา 5G เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน นอกจากนี้ จะพัฒนาระบบบิ๊กดาต้า โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDI) ที่จะยกระดับขึ้นเป็นหน่วยงานใหม่ เป็นองค์กรมหาชน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบรูณาการข้อมูล และผลักดันให้เกิดดาต้าแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้บริการประชาชน โดยเบื้องต้นได้ทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขยายการเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาลที่เป็นประโยชน์กับประชาชน สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตผ่านบริการของหน่วยงานในกำกับ อาทิ บริษัทไปรษณีย์ไทย ที่ได้มีการเปลี่ยนโครงข่ายการขนส่งไปรษณีย์เป็นดิจิทัล เซอร์วิส สู่การให้บริการอี-โลจิสติกส์

ด้านการพัฒนากฎหมายดิจิทัล จะเร่งพัฒนากฎหมายและระเบียบ เพื่อรองรับบริการดิจิทัลให้เพิ่มมากขี้น อาทิ หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2564 มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์, มาตรฐานการักษาความั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงข้อเสนอแนะมาตรฐานการลงคะแนนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top