ก.เกษตรฯ เตือนผู้ปลูกทุเรียนภาคตะวันออกเฝ้าระวัง 3 โรคระบาดช่วงต้นปี

นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัญหาการผลิตทุเรียนที่สำคัญของชาวสวนทั้งภาคตะวันออก และภาคใต้ คือ การระบาดของโรคทุเรียน ซึ่งในรอบ 12 เดือน จะมีการระบาดของโรคทุเรียนที่แตกต่างกันตามระยะการเจริญของทุเรียนและสภาพอากาศ ซึ่งเกษตรกรจะใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชเป็นจำนวนมาก ทั้งได้ผล และไม่ได้ผล ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในการปฏิบัติดูแลของเกษตรกรแต่ละราย

ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากต้องรู้จักชนิดของโรคพืชแล้ว ระยะการเจริญเติบโตของพืชก็มีความจำเป็นที่ต้องนำพิจารณาด้วยเช่นกัน เพื่อพิจารณาเลือกชนิดของสารป้องกันกำจัดโรคพืชให้เหมาะสม ใช้กับเชื้อให้ถูกชนิด ถูกประเภทและถูกวิธี ส่วนอัตราการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชต้องเป็นไปตามคำแนะนำบนฉลาก

ในช่วงเดือน ม.ค. ทุเรียนในภาคตะวันออก จะอยู่ในช่วงระยะพัฒนาของผล ซึ่งโรคทุเรียนที่พบการระบาดในช่วงเดือนม.ค. มีหลายโรคที่สำคัญ เช่น โรครากเน่าและโคนเน่า โรคราแป้ง และโรคใบจุดใบไหม้ จึงขอแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่า ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช

ในขณะเดียวกัน หากพบอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ให้ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช โดยสามารถใช้ตามคำแนะนำในการป้องกันกำจัดโรครากเน่าและโคนเน่า เช่น ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

นอกจากนี้ ในช่วงที่อากาศแห้งแล้งและเย็น อาจพบการระบาดของโรคราแป้ง ให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไพราโซฟอส 29.4% W/VEC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนโรคใบจุดใบไหม้ พบได้ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง แต่จะพบมากในช่วงฤดูแล้ง หากพบอาการของโรคให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

นายศรุต กล่าวว่า สำหรับการให้น้ำในช่วงเริ่มติดผลได้ 1 สัปดาห์ ให้ค่อยๆ เพิ่มปริมาณการให้น้ำขึ้นเรื่อยๆ และสามารถให้น้ำในอัตราปกติหลังการติดผล 3 สัปดาห์ โดยการให้น้ำต้องให้อย่างเพียงพอและสม่ำเสมอตลอดช่วงพัฒนาการของผลทุเรียน และให้ใส่ปุ๋ยหลังการตัดแต่งผลครั้งสุดท้าย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของผล โดยใส่ปุ๋ยเมื่อผลมีอายุ 7 สัปดาห์ ร่วมกับการพ่นโพแทสเซียมไนเตรท เพื่อควบคุมการแตกใบอ่อน ตัดแต่งผลที่มีพัฒนาการผิดปกติ มีขนาดเล็ก หนามแดง หรือมีโรคแมลงเข้าทำลายให้ตัดทิ้ง และควรมีการโยงกิ่งและผลทุเรียน เพื่อป้องกันการการหักโค่นของลำต้นและผลร่วง

อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ได้ผลที่สุดในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช คือ การใช้วิธีแบบผสมผสาน เช่น การทำเขตกรรม ใช้พันธุ์ต้านทานเพื่อลดการเกิดโรค บำรุงดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของพืช กำจัดวัชพืช ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง กำจัดส่วนที่เป็นโรค เพื่อลดประชากรของเชื้อสาเหตุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top