กกร.ปรับคาดการณ์ GDP ปี 64 โตในกรอบ 1.5-3.5% หากคุมโควิดได้ใน 3 เดือน

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 64 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.5% หากควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ 2.0% ถึง 4.0% เช่นเดียวกับประมาณการการส่งออกในปี 64 ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8% ถึง 1.0%

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 63-64 ของ กกร.

%YoY ปี 2563 (ธ.ค.63)ปี 2564 (ธ.ค.63)ปี 2564 (ม.ค.64)
GDP-7.0 ถึง -6.02.0 ถึง 4.01.5 ถึง 3.5
ส่งออก-7.0 ถึง -6.04.0 ถึง 6.03.0 ถึง 5.0
เงินเฟ้อ-0.850.8 ถึง 1.20.8 ถึง 1.0

กกร.ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก การท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตลอดครึ่งหลังของปี 63 ไม่สามารถเดินต่อได้ชั่วคราว หลังจากมีมาตรการเข้มงวดจำกัดการเดินทางในหลายจังหวัดที่มีประชากรมากหรือเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน และยังส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน

สำหรับกิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ เนื่องจากประเทศสำคัญๆ ใน Global supply chain อย่างจีนและไต้หวันยังควบคุมการระบาดได้ดี ทั้งนี้ ภาคการส่งออกในช่วงต้นปี 64 อยู่ภายใต้ข้อจำกัดจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออกรวมถึงค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า

ภาครัฐควรเร่งหามาตรการ ควบคุมโรคระบาดและช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ประการแรก ต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดและบังคับใช้มาตรการต่างๆที่ประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด ควรจะ focus แม่นยำ ตรงจุด ถึงต้นตอการแพร่กระจายทั้งนี้ขอให้ควบคุมดูแลที่อยู่ของคนงานต่างด้าวให้เหมาะสมเพื่อระงับการแพร่ระบาด และเร่งจับผู้กระทำผิดทั้งบ่อนการพนัน และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าของประเทศว่าปัญหาการแพร่ระบาดส่วนใหญ่มาจากคนสู่คน ไม่ใช่จากอาหารหรือสินค้าสู่คน

ประการที่สอง ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรื่องงบประมาณช่วยเหลือ 2 แสนล้านบาท โดยให้กำหนดวิธีการให้ชัดเจนปฏิบัติได้เร็วและให้ส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีความเห็นว่าจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ซึ่งอาจเป็นการต่ออายุโครงการคนละครึ่งและเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายต่อบุคคลเป็น 5,000 บาท มาตรลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลดค่าไฟ 5%รวมถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง Asset Warehousing และ บสย. อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สาม เร่งรัดเรื่องวัคซีนให้สามารถได้มาตามกำหนดเวลาและมีปริมาณที่เพียงพอรวมถึงกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการกระจาย การขนส่ง และฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดลำดับผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลังอย่างเหมาะสม

ประการที่สี่ เร่งรัดการใช้และการเจรจาการค้าทวิภาคี รวมถึงการให้สัตยาบันลงนามข้อตกลง RCEP ในการประชุมรัฐสภาเพื่อให้ข้อตกลงที่ลงนามไปเมื่อเดือน พ.ย. 63 มีผลบังคับใช้กลางปีนี้ เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง

“สถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กกร.ปรับลดคาดการณ์ และการส่งออกยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า” นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว

นายกลินท์ เชื่อว่า รัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ต้องประสานทุกภาคส่วนให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ขณะที่ กกร.พร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ส่วนความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นั้นคงยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ ต้องรอประเมินสถานการณ์กันเป็นรายเดือนไป

“มาตรการที่ออกมาต้องให้ตรงจุด ไม่เหมารวม ให้หว่านไปทั่วคงไม่เหมาะ”

นายกลินท์ กล่าว

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขอให้ภาครัฐย้ำเรื่องการระบาดเกิดจากคนสู่คนให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าไม่กระทบต่อสินค้า ส่วนการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ยังมีแนวโน้มไม่ดี ตัวเลขคงยังไม่เป็นบวก เนื่องจากมีหลายปัญหา เช่น ขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า เงินบาทแข็งค่า เริ่มมีหลายประเทศล็อคดาวน์ ขณะที่ผลกระทบเรื่องแรงงานนั้นยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีความเป็นห่วงเรื่องการตกงาน

ขณะที่นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นยังเดินหน้าต่อไป ส่วนจะมีมาตรการเพิ่มเติมให้ตรงจุดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นยังอยู่ระหว่างการหารือกัน ซึ่งเรื่องนี้สถาบันการเงินก็ต้องดูแลลูกค้าแบบ Win-Win เพราะถึงอย่างไรก็มีผลกระทบต่อสถาบันการเงินเอง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top