สหรัฐเริ่มทดลองรักษาโควิดที่มีอาการไม่รุนแรงด้วยแอนติบอดี

สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) ที่ระบุว่า สหรัฐได้เริ่มการทดลองทางคลินิกเพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวิธีรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลางด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody)

รายงานระบุว่า การทดลองดังกล่าวใช้แอนติบอดีทดลอง 2 ตัว ได้แก่ BRII-196 และ BRII-198 ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่มุ่งโจมตีเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 โดยทั้งสองเป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดีชนิดลบล้างที่อยู่ระหว่างการทดลอง ผลิตโดยบีอาร์ไอไอ ไบโอไซเอนซ์

NIH ระบุว่าแอนติบอดีเป็นโปรตีนต่อสู้กับการติดเชื้อที่ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ผลิตเองตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถดักจับเชื้อไวรัสและป้องกันการติดเชื้อในเซลล์ได้

ในการทดลองระยะ 2 และ 3 ช่วงแรก จะเปิดรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลางและมีความเสี่ยงที่อาการจะลุกลาม จำนวน 220 ราย โดยครึ่งหนึ่งจะได้รับแอนติบอดีทั้งสองตัวผ่านการให้สารอาหารทางหลอดเลือด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะได้รับยาหลอก จากนั้นแพทย์ฝ่ายรักษาจะติดตามอาการป่วยของผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นเวลา 72 สัปดาห์ โดยสามารถเลือกเดินทางไปพบแพทย์ที่คลินิกหรืออยู่ที่บ้าน

คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลความปลอดภัย (Data Safety Monitoring Board – DSMB) จะประเมินข้อมูลในระยะเวลา 28 วัน และตรวจสอบว่าวิธีรักษาด้วยแอนติบอดีนั้นปลอดภัย สามารถลดระยะเวลาที่ผู้เข้าร่วมการทดลองแสดงอาการป่วย รวมถึงสามารถกำจัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสออกจากร่างกายผู้ป่วยได้หรือไม่

NIH ชี้ว่าหากผลการทดลองอยู่ในระดับดีและไม่มีปัญหาด้านความปลอดภัย การทดลองจะเดินหน้าสู่ระยะ 3 พร้อมเปิดรับอาสาสมัครผู้ป่วยนอกเพิ่ม 622 ราย ทำให้มีผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 842 ราย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top