รฟท.งดเดินรถ 32 ขบวนเพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19 จนถึงสิ้น ก.พ.

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากการที่ ศบค.มีนโยบายให้ประชาชนลดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รฟท.จึงได้ประกาศงดเดินขบวนรถท่องเที่ยวที่ให้บริการเป็นประจำทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จำนวน 12 ขบวน ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.64 และขบวนรถเชิงพาณิชย์ จำนวน 30 ขบวน ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.-28 ก.พ.64 ประกอบด้วย

1.ขบวนรถท่องเที่ยวที่งดเดิน (จำนวน 12 ขบวน)

  • ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวที่ 997/998 กรุงเทพ-พลูตาหลวง-กรุงเทพ
  • ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวที่ 909/910 กรุงเทพ-น้ำตก-กรุงเทพ
  • ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวที่ 911/912 กรุงเทพ-สวนสนประดิพัทธ์-กรุงเทพ
  • ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวที่ 915/916 กาญจนบุรี-น้ำตก-กาญจนบุรี
  • ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวที่ 921/926 กรุงเทพ-โคกสลุง-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์-กรุงเทพ
  • ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวที่ 923/928 กรุงเทพ-โคกสลุง-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์-กรุงเทพ (เที่ยว 2)

2.ขบวนรถเชิงพาณิชย์ที่งดเดินในเส้นทางสายเหนือ สายอีสาน และสายใต้ (รวมทั้งสิ้น 30 ขบวน) ได้แก่

2.1 สายเหนือ (8 ขบวน)

  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 9/10 (อุตราวิถี) กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ
  • ขบวนรถด่วนที่ 51/52 กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ
  • ขบวนรถเร็วที่ 107/108 กรุงเทพ-เด่นชัย-กรุงเทพ
  • ขบวนรถเร็วที่ 109/102 กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ

2.2 สายอีสาน (12 ขบวน)

  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 23/24 (อีสานวัตนา) กรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ
  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 25/26 (อีสานมรรคา) กรุงเทพ-หนองคาย-กรุงเทพ
  • ขบวนรถด่วนที่ 71/72 กรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ
  • ขบวนรถด่วนที่ 75/76 กรุงเทพ-หนองคาย-กรุงเทพ
  • ขบวนรถเร็วที่ 139/140 กรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ
  • ขบวนรถเร็วที่ 145/146 กรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ

2.3 สายใต้ (10 ขบวน)

  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 31/32 (ทักษิณารัถย์) กรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่-กรุงเทพ
  • ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางที่ 39/40 กรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี-กรุงเทพ
  • ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางที่ 43/44 กรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี-กรุงเทพ
  • ขบวนรถด่วนที่ 83/84 กรุงเทพ-ตรัง-กรุงเทพ
  • ขบวนรถเร็วที่ 175/176 ชุมทางหาดใหญ่-สุไหงโกลก-ชุมทางหาดใหญ่

ทั้งนี้ผู้โดยสารสามารถนำตั๋วโดยสารมาติดต่อขอรับเงินคืนได้เต็มราคาเป็นกรณีพิเศษทุกสถานีทั่วประเทศ นอกจากนี้ การรถไฟฯ มีการดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขั้นสูงสุด เพื่อป้องกันและดูแลความปลอดภัย พร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้โดยสาร ทั้งในขบวนรถโดยสาร สถานีรถไฟทั่วประเทศ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางราง ดังนี้

  1. ประกาศใช้มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สูงสุดทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร โดยมีการตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ บริการเจลแอลกอฮอล์แก่ผู้โดยสาร
  2. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันตนเองผ่านช่องทางต่างๆ โดยเน้นย้ำให้มีการทำความสะอาดสถานีรถไฟ ขบวนรถโดยสาร สถานที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ที่พักผู้โดยสาร สถานที่ให้บริการ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์สม่ำเสมออย่างน้อยทุกๆ 2 ชั่วโมง และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อขบวนรถโดยสารทั้งสถานีต้นทางและปลายทางทุกครั้ง
  3. เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดมากขึ้นในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารใช้บริการหนาแน่น โดยทำความสะอาดรอบใหญ่ หรือ Big Cleaning ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณอาคารสถานี ชานชาลา ที่พักผู้โดยสาร ห้องสุขาทุก 3 วัน รวมถึงการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีผู้โดยสารใช้ร่วมกันทุก 1 ชั่วโมง
  4. ขอความร่วมมือผู้โดยสารทุกคนให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง และลงทะเบียนหรือสแกนคิวอาร์โค้ด เช็กอิน/เช็กเอาต์ที่แอพพลิเคชั่นไทยชนะทุกครั้งที่ใช้บริการเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และหากพบเห็นผู้โดยสารที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ทั้งบริเวณสถานีรถไฟ หรือบนขบวนรถ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานี/ขบวนรถ หรือ ศูนย์ปลอดภัยของการรถไฟฯ โทรศัพท์ 02-5379198 ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์สายด่วน 1690 ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (9 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top