KKP หั่น GDP ปี 64 เหลือโต 2% จาก 3.5% รับโควิดรอบใหม่-ท่องเที่ยวไม่ฟื้น

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือเติบโต 2% จากเดิม 3.5% จากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศที่ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.63 ส่งผลให้มีการควบคุมสั่งปิดสถานที่เสี่ยงบางประเภทจากภาครัฐ

เพื่อป้องกันขยายวงกว้างของการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและธุรกิจต่างๆที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมาให้กลับทรุดลง หรือยืดระยะเวลาการฟื้นตัวออกไป จากที่เคยคาดการณ์ไว้ พร้อมกับยังมีความไม่แน่นอน กระทบต่อกระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน รายได้และการบริโภค อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างที่ยังคงต้องติดตามในการประเมินผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้

แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 1/64 คาดว่าจะหดตัวอย่างแรงก่อนจะค่อยๆฟื้นตัวในไตรมาสถัดไปหากภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในระยะเวลาช่วง 2 เดือนได้ ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1/64 ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันกับในไตรมาส 2/63 โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลงรุนแรง และจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/64 มีโอกาสโตติดลบถึง 6.1% และหากการระบาดจบลงตามคาดเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างช้าๆในช่วงไตรมาส 2/64 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม การที่ยังมีปัจจัยหนุนให้กับเศรษฐกิจไทยอยู่บ้างจากภาคส่งออกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในปี 64 ที่ฟื้นตัวขึ้นตามภาพรวมของเศรษฐกิจโลก หลังจากมีความคืบหน้าเรื่องวัคซีนโควิด-19 ออกมาแล้ว ทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณการพลิกกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยังหนุนให้การส่งออกไทยให้กลับมาขยายตัวได้ แต่การที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายพันธุ์ในบางประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกอาจจะยังฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่ ซึ่งประเมินภาคการส่งออกไทยปี 64 ในปีนี้ยังโต 1.6% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าเติบโต 4.3%

ด้านภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยมาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับมาได้ช้ากว่าที่คาด หลังจากโควิด-19 กลับมาแพร่รระบาดในประเทศอีกครั้งในช่วงปลายปี 63 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 64 ทำให้คนไทยกลับมามีความกังวลในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และในทางกลับกันนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดอยู่ในระดับต่ำแล้ว เช่น จีน ก็อาจลังเลที่จะเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย

ถึงแม้ว่าไทยจะมีแผนสำหรับการผลิตและใช้วัคซีนในประเทศ แต่ต้องรอถึงช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 กว่าจะมีการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ในวงกว้างขึ้น ซึ่งอาจไม่ทันสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3/64 ทำให้ธนาคารปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 64 ลงเหลือเพียง 2 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 6.4 ล้านบาท แต่ในกรณีที่แย่ที่สุด และการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศยังยืดเยื้อต่อไป อาจจะทำให้ในปีนี้ยังไม่สามารถเปิดรับนักท่งอเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาได้ตลอดทั้งปี ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยกดดันทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 64 ติดลบได้

ปัจจัยที่จะต้องติดตามซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ยังคงเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่าจะใช้ระยะเวลายาวนานเท่าใด ซึ่งหากยืดเยื้อนานมากกว่า 2 เดือนอาจจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนจะทำได้รวดเร็วและเพียงพอ ทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้หรือไม่ หากอิงตามการรายงานของทางการไทยจะได้รับวัคซีน Coronavac ที่ผลิตโดยบริษัท Sinovac Biotech ของประเทศจีน รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส ในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.นี้ และได้สั่งจองวัคซีนจาก AstraZenaca อีก 26 ล้านโดส ซึ่งทางการคาดว่าจะได้รับในช่วงกลางปี 64 และหากเป็นไปตามแผน ประชากรไทยราว 20% จะได้รับวัคซีนภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะมีการผลักดันมาตรการใดบ้างออกมา ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการใช้งบบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังถูกใช้ไปเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น แสดงถึงความล่าช้าในการผลักดันมาตรการและโครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผล และได้ผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

ส่วนประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ของ GDP ธนาคารมองว่าไม่ควรเป็นนำมาเป็นข้อจำกัดในภาวะวิกฤตที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนต่อประชาชนรุนแรงเช่นนี้ เพราะหากการกู้เงินของภาครัฐเป็นไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รั่วไหลน้อย และมีแผนในการรักษาวินัยทางการคลังอย่างเข้มงวด จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ม.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top