กทม.เคาะค่าตั๋ว BTS สูงสุดไม่เกิน 104 บาท เริ่ม 16 ก.พ.เป็นการชั่วคราว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และเป็นบริษัทย่อย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. กทม.ได้เรียก BTSC หารือเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กทม.จะเก็บค่าโดยสารทั้งเส้นทางสายสีเขียว จากเดิมราคาสูงสุด 158 บาท/เที่ยว โดยจะปรับลงลงมาที่ราคาสูงสุด 104 บาท/เที่ยว เริ่มตั้งแต่ 16 ก.พ.64 เพราะมองว่าราคาเดิม 158 บาทประชาชนคงรับไม่ได้

ดังนั้นการเก็บอัตราค่าโดยสารสูงสุด ไม่เกิน 104 บาท จะส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนประมาณ 3 พันล้านบาท/ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารด้วย หากมีมากก็อาจขาดทุนน้อยลง แต่หากมีน้อยก็ส่งผลให้ขาดทุนเพิ่ม

ทั้งนี้ การเก็บค่าโดยสารใหม่ จะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เริ่ม 15 – 104 บาท โดยแบ่งเป็น

  • ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งเป็นส่วนสัญญาสัมปทาน จะคงอัตราค่าโดยสาร 16-44 บาท
  • ส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต ค่าโดยสาร เริ่ม 15 – 45 บาท โดยปรับขึ้นสถานีละ 3 บาท
  • ส่วนต่อขยายอ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ เริ่ม 15 – 45 บาท โดยปรับขึ้นสถานีละ 3 บาท
  • ส่วนต่อขยายสะพานตากสิน-บางหว้า เริ่ม 15 – 33 บาท โดยปรับขึ้นสถานีละ 3 บาท

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การเก็บค่าโดยสารใหม่ กทม.จะใช้แค่ชั่วคราว เนื่องจาก กทม.มีภาระค่าใช้จ่ายมาก ขณะเดียวกันก็มีหนี้ค้างชำระค่าจ้างเดินรถกับบีทีเอส เกือบ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งติดค้างมาตั้งแต่เดือน พ.ค.62 หรือ 20 เดือน ซึ่งหากกทม.มีรายได้จะทยอยชำระคืนให้กับบีทีเอสได้

ขณะเดียวกันก็รอเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งความคืบหน้าคือต้องรอ 3-4 หน่วยงานตอบกลับมา ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งทั้งกระทรวงการคลัง และป.ป.ช.คาดว่าจะตอบกลับมาในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะกำหนดให้บริษัทเก็บค่าโดยสารในอัตราไม่เกิน 65 บาท และให้มีการขยายเวลาสัมปทานออกไป 30 ปี โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีจำนวน 59 สถานี รวมระยะทาง 68.25 กม. สามารถเชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุมถึง 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี, กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ โดยเปิดได้ครบทั้งเส้นทางเมื่อ 16 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวว่าจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้จำนวนผู้โดยสารหายไปครึ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายอื่น ซึ่งในช่วงก่อนเกิดการระบาดรอบใหม่ บีทีเอสมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 80% จึงคาดว่าปีนี้จะไม่ขาดทุน แต่กำไรอาจปรับตัวลงมากจากปีก่อน แต่ส่วนหนึ่งได้ปรับลดค่าใช้จ่ายลง

ส่วนงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) ยังมีรายได้งานก่อสร้างเข้ามา ซึ่งงานล่าช้าไม่ถึง 1-2% และขณะนี้กำลังเร่งรัดงานอยู่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top