สธ.ชี้เป็นสัญญาณดี ยอดผู้ป่วยโควิดใหม่สัปดาห์นี้ลดลงในระดับพันราย

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ หากพิจารณาข้อมูลผู้ป่วยสะสมตั้งแต่กลางเดือนธ.ค.63 ถึง 16 ม.ค.64 รวม 4 สัปดาห์ จะพบว่าจำนวนผู้ป่วยสะสมมีจำนวนเพิ่มสูงสุดอยู่ในสัปดาห์แรกของเดือนม.ค. (2-8 ม.ค.64) โดยมีสูงถึง 2,674 ราย และในสัปดาห์ที่สองของเดือนม.ค. (9-16 ม.ค.64) ลดลงมาอยู่ที่ 1,627 ราย เป็นการลดลงถึงประมาณ 1 พันราย ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

“หลังปีใหม่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากถึง 2 พันกว่าคน แต่สัปดาห์นี้เป็นที่น่าพอใจ จำนวนผู้ป่วยสะสมลดลงในหลักพันคน นั่นหมายความว่ามาตรการป้องกันและควบคุมโรคจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง ถือเป็นสัญญาณที่ดี ดังนั้นสิ่งที่คนไทยทุกคนทำอยู่ คือสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง งดไปที่ชุมชน ช่วยทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมสัปดาห์นี้เริ่มลดลงได้”

นพ.จักรรัฐกล่าว

พร้อมระบุว่า หากสามารถดำเนินการให้สัญญาณนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก็จะถือได้ว่ามาตรการที่ผ่านมาช่วยทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลง แต่ถ้าจะให้ลดลงได้มากกว่านี้ก็จะทำให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติมากขึ้น ดังนั้นในช่วงสองสัปดาห์จากนี้ไป อาจต้องจับตาดูว่ามาตรการป้องกันโรคจะมีเพิ่มเติมมากขึ้นหรือไม่ เพื่อให้พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ทั้งนี้เพื่อให้การควบคุมโรคสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในประเทศ พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ 60 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 50 ราย มี 10 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อมาก่อน มี 17 จังหวัด ขณะที่จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในรอบ 7 วันที่ผ่านมามี 31 จังหวัด

นพ.จักรรัฐ กล่าวย้ำว่า ประชาชนคนใดที่มีประวัติเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยง หรือจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เช่น สมุทรสาคร, ระยอง, จันทบุรี และชลบุรี ในสัปดาห์นี้หากมีอาการ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เมื่อไปถึงโรงพยาบาลต้องรีบแจ้งข้อมูลให้แพทย์ทราบว่าได้เดินทางไปยังสถานที่หรือพื้นที่เสี่ยง เพื่อที่จะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด และจะเป็นการตรวจหาเชื้อฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่มีข่าวประเทศนอร์เวย์ฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิดให้แก่ผู้สูงอายุมากกว่า 80 ปีแล้วเสียชีวิตนั้น นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า หลายประเทศได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงไปแล้ว เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนย่อมมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหรืออาการที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ โดยมีอาการหนัก-เบาแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น มีอาการปวด บวม แดงร้อน ผื่นขึ้นในบริเวณที่ฉีดวัคซีน ไปจนถึงหายใจไม่ออกได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้วิเคราะห์ว่าจะต้องมีการทิ้งช่วงในการฉีดวัคซีนของแต่ละกลุ่มเสี่ยงอย่างไร รวมทั้งเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลหากมีการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตภายหลังจากได้รับวัคซีน ซึ่งมีโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top