ดีป้าคาดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯดิจิทัล Q1/64 แนวโน้มดีขึ้นจากมาตรการรัฐหนุน

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) คาดการณ์ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล หรือ Digital Industry Sentiment Index ไตรมาสแรกของปี 2564 อยู่ที่ 53.7 ปรับตัวดีขึ้นจากปัจจุบันในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยผู้ประกอบการมองว่าการดำเนินธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาวัคซีนที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ

แต่ในทางกลับกัน คาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ด้านต้นทุนปรับลดลง ผู้ประกอบการขนาดเล็กหลายรายประสบปัญหาสภาพคล่องจากการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ และสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

“จากคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ด้านต้นทุนที่ปรับลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล เสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต เช่น มาตรการการผ่อนปรนดอกเบี้ย และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ ดูแลสภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่า ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก การส่งเสริมสร้างโอกาสทางการแข่งขัน โดยเปิดเสรีให้เกิดกิจการร่วมค้าระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจกับต่างชาติ เพื่อขยายตลาด” ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า กล่าว

ด้านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 4/63 อยู่ที่ระดับ 49.9 จาก 49.8 ในไตรมาสก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยอยู่ในภาวะทรงตัว แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากอุปสงค์สินค้าเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ เพื่อทำให้เกิด Digital Transformation

ทั้งนี้ ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปี 2563 ชี้ให้เห็นว่า องค์ประกอบด้านผลประกอบการมีทิศทางที่ดีขึ้น สอดรับกับด้านปริมาณการผลิต การค้า และการบริการ รวมถึงคำสั่งซื้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนเพื่อเพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่าอุปสรรคที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมดิจิทัลไทย คือ การจ้างแรงงาน เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรหรือกำลังคนที่ตรงตามสายงานวิวัฒนาการสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 5G แอปพลิเคชัน เอไอ และคลาวด์คอมพิวติ้ง

อีกทั้งผู้ประกอบการเห็นพ้องว่า การดำเนินธุรกิจในช่วงปีที่ผ่านมากำลังเผชิญกับปัญหาด้านต้นทุน เนื่องจากปัจจัยการแข่งขันในประเทศ เงินทุนหมุนเวียนที่ไม่เพียงพอ จนทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง และภาระดอกเบี้ยที่ต้องแบกรับภายหลังการสิ้นสุดมาตรการการพักชำระหนี้ของรัฐบาล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top