ก.เกษตรฯ เตรียมปรับแผนการบริหารจัดการน้ำสู้ภัยแล้ง หลังปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานปล่อยคาราวานเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2563/64 ว่า สถานการณ์ในปี 62 มีปริมาณฝนสะสมรวมทั้งประเทศ 1,333 มิลลิเมตร (มม.) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 225.5 มม. หรือคิดเป็น 16% ต่อเนื่องมาจนถึงปี 63 มีปริมาณฝนสะสมรวมทั้งประเทศ 1,527.3 มม. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 60.4 มม. คิดเป็น 4%

ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศหลายแห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ปริมาณน้ำใช้การรวมกัน ณ วันที่ 1 พ.ย.63 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูแล้งมีอยู่ประมาณ 23,833 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ปัจจุบัน 3 ก.พ.64 คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 20,433 ล้าน ลบ.ม. หรือ 39% ของน้ำใช้การทั้งหมด

เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การรวมกัน ณ วันที่ 1 พ.ย.64 ประมาณ 5,771 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32% ของน้ำใช้การทั้งหมด ปัจจุบัน 3 ก.พ.64 เหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,263 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23% ของน้ำใช้การทั้งหมด ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ไว้จำนวน 17,122 ล้าน ลบ.ม. สำรองไว้ต้นฤดูฝน 8,735 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,041 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 47% ของแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งกรมชลประทานจะควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 4.26 ล้านไร่ จากแผน 1.90 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ไม่มีแผนการเพาะปลูก แต่ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 2.63 ล้านไร่ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ ปัจจุบันในหลายพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พ.ย.63 เน้นจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอ ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้แก่ประชาชนรวมทั้งเกษตรกรได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งเร่งกำจัดวัชพืชในแม่น้ำและคลองสาขาที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.พ. 64)

Tags: , , ,
Back to Top